ปตท. เดินหน้าพาอินโนบิกขยายธุรกิจ Life Science พร้อมลุยหาพันธมิตรญี่ปุ่น มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกอนาคต - mediator

Blog ปตท. เดินหน้าพาอินโนบิกขยายธุรกิจ Life Science พร้อมลุยหาพันธมิตรญี่ปุ่น มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกอนาคต

13.07.2021

TJRI
ปตท. เดินหน้าพาอินโนบิกขยายธุรกิจ Life Science พร้อมลุยหาพันธมิตรญี่ปุ่น มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกอนาคตのメイン画像

กว่าจะประสบความสำเร็จ ย่อมต้องผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ ทดลอง ล้มเหลว
เป็นบทเรียนมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

หากไม่กลัวความล้มเหลวระหว่างการทดลอง ย่อมมีโอกาสที่จะพัฒนาธุรกิจ ไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ทันโลกได้สำเร็จ เฉกเช่น บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ที่ได้ทดลองทำสิ่งใหม่มากมาย ทั้งที่ดำเนินการอยู่ภายใน ปตท. และจากการลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม

โดยวันนี้ ทาง Mediator ได้รับเกียรติจาก คุณพรทิพย์ เชิดชูวุฒิกุล รองประธาน ผู้จัดการฝ่ายบริหารกลยุทธ์กลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. จะมาเล่าถึงความคืบโครงการของ ปตท. ว่าตอนนี้กำลังดำเนินกิจกรรมอะไรอยู่บ้าง

ดร.ณัฐ อธิวิทวัส ผู้จัดการฝ่าย ปตท. และเป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จะมาเผยทิศทางและภาพรวมของบริษัท ผ่าน Webinar ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรม” ทิศทางการพัฒนาธุรกิจในอนาคตของ ปตท. พร้อมบริษัทในเครือ ตลอดจนเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาทำความรู้จักกับบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดใน​ไทย

สร้างกลยุทธ์ขยายธุรกิจ ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

หลายคนทราบดีว่า บริษัท ปตท. ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานปิโตรเลียม ไนโตรเคมี ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยในปัจจุบัน ปตท. ได้ลงทุนในบริษัทย่อยอีกมากมาย ซึ่งบทบาทหน้าที่การทำงานนั้น มีทั้งธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง อย่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจระบบลำเลียงท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม ส่วนธุรกิจที่ ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทในเครือ อาทิเช่น ธุรกิจสำรวจและผลิต บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP), ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR), ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP), ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC), ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่ครบวงจรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ไออาร์พีซี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (IRPC), ธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC)

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบริษัทย่อยที่ให้บริการด้านอื่นเกือบครบวงจร เช่น เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิควิศวกรรม ให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และบริษัทน้องใหม่มาแรงอย่าง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต

ปตท. ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ ไปสู่การขับเคลื่อนพลังทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต

เมื่อโลกเปลี่ยนไป ยุคสมัยก็เปลี่ยนแปลง คุณพรทิพย์เล่าว่า ปตท. เองก็มีภารกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น เมื่อทิศทางของอนาคตทั้งองค์กรปรับเปลี่ยน จึงเป็นที่มาในการปรับวิสัยทัศน์ใหม่เป็น Power Life with Future Energy and Beyond โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Future Energy มุ่งเน้นไปในทิศทางของพลังงานอนาคต ประกอบด้วย Renewable, Energy storage, EV value chain และ Hydrogen ซึ่ง Hydrogen ถือเป็นสิ่งที่ ปตท. กำลังโฟกัสอยู่พอสมควร และถือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังต้องเรียนรู้อีกมาก

ส่วนกลุ่ม Beyond จะมุ่งเน้นในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ประกอบด้วย Logistics & Infrastructure, AI, Robotics & Digitalization, HVB, Mobility & Lifestyle, Life Science (Pharmaceutical, Medical Device & Nutrition) และ Ready to explore ธุรกิจใหม่อื่นๆ

จากบริษัทพลังงานระดับชาติสู่แนวคิดขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต

ด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือ การระบาดของโรคร้ายแรงต่างๆ (Pandemic) การเติบโตขยายของเมือง รวมถึงยุคสมัยที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวมากขึ้น Smart City จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการและพัฒนาเมือง ให้พร้อมรับมือกับการเติบโตของเมือง และ สถานการณ์โลกที่ยากจะคาดเดา ซึ่งต้องใช้พลังงานอนาคตในรูปแบบใหม่ๆ เป็นแหล่งขับเคลื่อนรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป นี่ก็เป็นเหตุผลที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนขององค์กร ปตท.

นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย 30/30 ของรัฐที่ประกาศว่า ภายในปี 2030 ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ (ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิตในปี 2573 (2030) ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ซึ่งนี่ก็เป็นตัวผลักดันที่ดีที่จะทำให้ ปตท. ทำในเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV การทำแบตเตอรี่ การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ตลอดจนการทำ EV Charging Station ซึ่งทาง ปตท. เองมุ่งหวังที่จะทำเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้อย่างครอบคลุมและครบวงจรมากที่สุด เพื่อผลักดันและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ

นอกเหนือจากการมุ่งเน้นด้านรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว คุณพรทิพย์เล่าว่า ปตท. ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การใช้ข้อมูลเชิงสถิติ (Big Data) การใช้ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ (AI and Robotics) มาช่วยบริหารจัดการ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มที่ดีอย่าง Smart Energy เพื่อต่อยอดสู่ New S-Curves Business ที่เน้นการนำนวัตกรรมผสานเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ให้มีความเป็นอัจฉริยะทั้งในแง่ของการบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการเมือง ระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาหาร เกษตร เป็นต้น

‘อินโนบิก’ สร้างความหวังใหม่ให้สาธารณสุข มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

จากที่คุณพรทิพย์เล่าในส่วนภาพใหญ่ของ ปตท. ไปแล้ว มาต่อกันที่ ดร.ณัฐ ซึ่งจะมาบอกเล่าความเป็นมาและภาพรวมของบริษัทอินโนบิกกันบ้าง

สำหรับบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2563 เป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% จุดเริ่มต้นการก่อตั้งมาจากการเล็งเห็นว่าประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ นั่นคือการก้าวสู่สังคมสูงวัย (Ageing society) ซึ่งพบปัญหาโรคมะเร็ง โรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนายาเพื่อการรักษาโรคยังขาดนวัตกรรมใหม่ๆ จึงทำให้ประเทศไทยยังต้องมีการนำเข้าตัวยาหรือโมเลกุลยาจากต่างประเทศถึง 90 %

จากการเห็น Pain point ของประเทศไทย รวมทั้งเห็นโอกาสทางธุรกิจในการแก้จุดบกพร่องนี้ อินโนบิกจึงถูกก่อตั้งขึ้น โดยเน้นการสรรสร้างนวัตกรรมควบคุมตัวยา โมเลกุลยาที่มีคุณภาพ หลังจากนั้นก็จะเป็นส่วนการผลิต จัดจำหน่าย

ไม่เพียงเท่านั้น ทาง ปตท. ได้ซื้อหุ้น Lotus Pharmaceutical บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาสามัญชั้นนำที่ได้มาตรฐานระดับสากล โดยเป็นการลงทุนเพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ที่ต้องการขยายธุรกิจใหม่ด้าน Life Science ซึ่งการลงทุนในบริษัทยาไต้หวันจะยิ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้อินโนบิก อีกทั้งยังสามารถต่อยอดและขยายการลงทุนไปยังตลาดยาด้านมะเร็งในระดับอาเซียนได้อีกด้วย

อินโนบิก มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจ Life Science อย่างเต็มรูปแบบ

ไม่ใช่เพียงแต่กลุ่มยาสามัญ ที่ทางอินโนบิกกำลังทดลอง ดร.ณัฐเผยว่า อันที่จริงทางอินโนบิกได้วางเป้าหมายว่า บริษัทจะต้องเป็นผู้นำธุรกิจใหม่ด้าน Life Science โดยปัจจุบันทางอินโนบิกโฟกัสอยู่ที่ 4 กลุ่มสินค้า ด้วยกัน ได้แก่

1. กลุ่มยาสามัญ สำหรับโรคที่ไม่ติดต่อ และกลุ่มยาเพื่อรักษากลุ่มโรค NCDs
2. อาหารอนาคต (Future food) โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนทางเลือก หรือ Plant-based Food สินค้าที่กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในวงการอาหาร ด้านโภชนาการ (Nutrition) ด้านอาหารที่เป็นยารักษาโรคได้ ซึ่งจะเน้นไปที่อาหารสำหรับผู้สูงวัย รวมถึงอาหารสำหรับผู้ป่วยด้วย
3. อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ชนิดใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย ผ้าปิดแผล
4.ระบบการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบการวินิจฉัยโรคต่างๆ

โปรเจกต์เล็ก-ใหญ่ที่ผ่านมา

เพราะการวางเป้าหมายจริงจังในธุรกิจใหม่ด้าน Life Science จึงทำให้ปัจจุบันทาง ปตท. มีโปรเจกต์มากมายที่เริ่มมีให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว อาทิ การสร้างโรงงานยามะเร็งร่วมกับองค์การเภสัชกรรม การร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลวิจัยและพัฒนาสกัดสมุนไพรไทยให้เป็นยาสู่ระดับสากล นอกจากนี้ยังมีการทำชุดตรวจโควิด Covid Test Kit ที่คาดว่าจะปล่อยในไตรมาส 3 ของปี 2564

เป็นที่น่ายินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่เราได้ยินคำว่า “เราทำเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ” จากคุณพรทิพย์ และ “เลือกทำธุรกิจ ปิดจุดอ่อนของประเทศ” จาก ดร.ณัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงค่านิยมองค์กรที่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ

นอกจากนั้นกิจกรรมต่างๆของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม อย่างอินโนบิก ที่เราได้รับทราบจากงานสัมมนา แสดงให้เห็นถึงความ กล้าคิด กล้าลงมือทำแบบ “พูดจริง ทำจริง” และยิ่งหากได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร อย่างประเทศญี่ปุ่น มาช่วยผลักดันนวัตกรรม ดำเนินธุรกิจร่วมกัน ช่วยกันผสมผสานความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการต่อยอดองค์ความรู้ ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน จะยิ่งช่วยสนับสนุนภารกิจของ ปตท. และบริษัทในเครือ สามารถเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่พลังงานและสาธารณสุขไทย ไปจนถึงระดับภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันยานยนต์ Link

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร