ปัจจัยความสำเร็จของเครือซีพี ทำความรู้จัก "CP" ผู้พาธุรกิจไทยไปไกลสู่ตลาดโลก - mediator

Blog ปัจจัยความสำเร็จของเครือซีพี ทำความรู้จัก “CP” ผู้พาธุรกิจไทยไปไกลสู่ตลาดโลก

17.09.2021

TJRI
ปัจจัยความสำเร็จของเครือซีพี ทำความรู้จัก “CP” ผู้พาธุรกิจไทยไปไกลสู่ตลาดโลกのメイン画像

เมื่อพูดถึง ‘ซีพี’ หลายคนคงนึกถึงไก่ หมู กุ้ง อาหารสำเร็จรูป หรือ ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีอยู่ทั่วทุกที่ แต่ทราบหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว ซีพี หรือ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (C.P. Group) ยังดำเนินธุรกิจอีกหลายหลายประเภทด้วยกัน วันนี้เราจะพาทุกท่านไปเปิดอาณาจักรแห่งเครือซีพีแบบหมดเปลือก พร้อมเจาะเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้เครือซีพีเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในไทย

กว่าจะก้าวมาเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในไทย ใครจะเคยคิดว่าธุรกิจเริ่มต้นของกลุ่มบริษัทในเครือซีพีมีที่มาจากร้านขายเมล็ดพันธุ์ผักและผลไม้เล็ก ๆ ชื่อ ‘เจียไต๋จึง’ บนถนนทรงวาดในกรุงเทพฯ ที่เปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2464 ซึ่งนี่เองถือเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์เมล็ดพันธุ์ตราเครื่องบินหรือเจียไต๋ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน ก่อนจะเริ่มขยายกิจการไปยังธุรกิจอาหารสัตว์ ในปี พ.ศ. 2507 และได้ขยายกิจการไปยังฟาร์มไก่ หมู กุ้ง และธุรกิจร้านค้าปลีกและร้านอาหารต่าง ๆ จวบจนถึงปัจจุบัน

ต้นน้ำถึงปลายน้ำกับความสำเร็จของ C.P. Group

ตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการขับเคลื่อนการเติบโตและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน เครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจในลักษณะบริษัทแม่ที่มีการถือหุ้นบริษัทในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ โดยแบ่งเป็น 8 สายธุรกิจหลัก 14 กลุ่มธุรกิจย่อยที่ดำเนินกิจการใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งออกกว่า 140 ประเทศ ใน 6 ทวีป มีพนักงานทั้งหมดกว่า 4 แสนคน เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร-อุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป ธุรกิจเวชภัณฑ์ การเงินและการธนาคาร

‘3 ประโยชน์’ กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนของ C.P. Group

C.P. Group เชื่อว่าไม่มีองค์กรหรือธุรกิจใดจะสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง หากปราศจากหลัก 3 ประโยชน์ที่บริษัทฯ ยึดมั่นเสมอมา อันได้แก่ ผลประโยชน์ต่อประเทศที่เข้าไปลงทุน ผลประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศที่เข้าไปลงทุน และผลประโยชน์ของบริษัทฯ ซึ่งหลัก 3 ประโยชน์นี้เป็นแนวคิดที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดถือมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก ยิ่งเมื่อมารวมกับวิสัยทัศน์ขององค์กรในการมุ่งสู่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างอาหารคน อาหารสมอง โอกาสในการเข้าถึงคุณค่า เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน นี่จึงถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนและผลักดันให้ C.P. Group เติบโตอย่างมั่นคงทั้งบนเวทีไทยและเวทีโลกได้อย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ

จุดกำเนิดเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดในไทย

ในปี พ.ศ. 2531 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ลงนามซื้อสิทธิการประกอบกิจการธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” จาก 7-Eleven Inc. สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Seven & I Holdings Co., Ltd.) และเปิดสาขาแรกที่ย่านพัฒน์พงษ์ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2532 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา C.P. Group ได้มีการปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคตามค่านิยมขององค์กรคือ “การยอมรับการเปลี่ยนแปลง” โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิด Big Change จากเดิมที่เคยเป็นเพียงร้านค้าที่จำหน่ายอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ตอนนี้ทาง C.P. Group ก็ได้ปรับให้มีสินค้าหลากหลายขึ้น พร้อมเพิ่มช่องทางการสั่งซื้อที่หลากหลาย รวมถึงเพิ่มบริการจัดส่งสินค้าถึงที่บ้านและบริการเดลิเวอรี่เพื่อมอบความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคอย่างสูงสุด ทุกที่ ทุกเวลา ปัจจุบัน เซเว่นอีเลฟเว่นมีสาขากว่า 10,000 สาขาในไทย และกำลังขยายไปสู่กัมพูชาและลาวอีกด้วย

C.P. Group ผนึกกำลังญี่ปุ่น-จีน ดันประเทศสู่ศูนย์กลางเอเชีย

เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังเล็งเห็นความสำคัญขององค์ความรู้แบบ Know-How จึงได้มีการจับมือกับ “บริษัท เมจิ จำกัด” ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ชื่อดังของญี่ปุ่นเพื่อดึงเทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับโลกมาใช้ในการผลิตที่เมืองไทย และเป็นจุดกำเนิดของบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ที่ปัจจุบันก็ได้ก้าวมาเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดนมสดพาสเจอร์ไรส์ของประเทศไทย นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2558 เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังมีการจับมือกับบริษัท “อิโตชู” (ITOCHU) บริษัทการค้าจากญี่ปุ่นเพื่อร่วมกันซื้อหุ้น CITIC กลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งจะเป็นการผนึกกำลังพันธมิตรที่แข็งแกร่งด้วยการดึงจุดแข็งของแต่ละบริษัท อาทิ ทรัพยากร บุคคล เครือข่ายธุรกิจเพื่อผลักดันธุรกิจต่างๆ ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าการลงทุนทั้งในเอเชียและทั่วโลกพร้อมทั้งเสริมศักยภาพของภาคธุรกิจในเอเชียให้โดดเด่นบนเวทีโลก

Cheeva-Pork นวัตกรรมเนื้อหมูมีโอเมก้า-3 ครั้งแรกของโลก

ไม่เพียงแต่การผลิตอาหารให้เปี่ยมด้วยคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น C.P. Group ยังได้มีการยกระดับการจัดการไปในวิถีทางใหม่ที่เน้นทั้งคุณค่าทางโภชนการร่วมกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับอาหารให้เปี่ยมด้วยคุณค่า สามารถสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ครบถ้วนทุกมิติ จึงเป็นจุดกำเนิดของ Cheeva-Pork นวัตกรรมหมูเพื่อสุขภาพรับเทรนด์อาหารปลอดภัยภายใต้แบรนด์ U-Farm โดยเป็นการพัฒนาหมูตั้งแต่สายพันธุ์ อาหารที่ใช้เลี้ยงตลอดจนระบบและวิธีการเลี้ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อหมูอุดมด้วยไขมันดีอย่างโอเมก้า-3 แทรกอยู่ในชั้นไขมันอันเกิดจากการเลี้ยงด้วยนวัตกรรมอาหาร Super Food เช่น เมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันปลา สาหร่ายจากน้ำทะเลลึก ตลอดจนสารไบโอติกในฟาร์มที่ได้มาตรฐาน โดยไม่ใช่ยาปฏิชีวนะใดๆ ตลอดการเลี้ยงดู ทำให้หมูสุขภาพดีอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ทั้งใส่ใจในสุขภาพและให้ความสำคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังสามารถคว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรมอาหารจากงานแสดงสินค้าอาหารระดับโลก THAIFEX–Anuga Asia 2020 มาครองได้สำเร็จ

โอกาสทางความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างองค์กรญี่ปุ่นกับทาง C.P. Group

C.P. Group มุ่งสร้างความร่วมมือ ส่งเสริมความยั่งยืนกับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรให้เติบโตไปด้วยกัน ตามปณิธานร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน จึงได้เปิดโอกาสทางความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างองค์กรญี่ปุ่นกับทาง C.P. Group ในแง่มุมต่างๆ อาทิ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development) นวัตกรรมในการจัดการน้ำเสีย หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริหารจัดการของเสียและการรีไซเคิล เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) โปรตีนทางเลือก บริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Telehealth System) เทคโนโลยี IoT เพื่อการสวมใส่ (IoT Wearable Technology) ระบบสารสนเทศข้อมูลสุขภาพและการวิเคราะห์ข้อมูล (Health Data Center) ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสำหรับผู้ป่วยอีกด้วย

เครือเจริญโภคภัณฑ์กับความยั่งยืนแห่งอนาคต

ความสำเร็จของเครือซีพีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานและแผนงานที่มีประสิทธิภาพภายใต้ค่านิยมและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลขององค์กรเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความใส่ใจในความยั่งยืน โดย C.P. Group ได้มีการกำหนดกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนประจำปี 2021-2030 (CPG 2030 Sustainability Strategy Framework) ด้านการกำกับดูแลกิจการ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ยึดเป็นแนวทางในการบริหารงานควบคู่ไปกับความยั่งยืนใน 15 ประเด็นหลัก สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมจะเน้นไปที่ 5 เป้าหมาย คือ 1. การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าหมายจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากกระบวนการต่างๆ ให้เป็นศูนย์ภายใน ปี 2030
2. หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะเน้นไปที่การลดขยะจากอาหารและปรุงอาหารแบบปราศจากขยะเหลือทิ้ง (Zero Food Waste) การกำจัดกากหรือของเสียโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Zero Waste to Landfill) และการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Packaging)
3. การบริหารจัดการน้ำ (Water Stewardship) เพื่อการจัดการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดผ่านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ตามแนวทาง Eco-Efficiency พร้อมปันน้ำช่วยเกษตรกรและบรรเทาภัยแล้ง
4. การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (Ecosystem and Biodiversity Protection) ซึ่งยังคงยึดมั่นกับการจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ไม่บุกรุก ทำลายป่าไม้ หรือทรัพยากรทางทะเลเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ พร้อมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเข้มแข็ง
5. การจัดการโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ (Responsible Supply Chain Management) ซึ่งบริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางในการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบและซัพพลายเออร์ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงกระบวนการสั่งซื้อการนำเข้าวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิตจนกระทั่งส่งสินค้าถึงมือลูกค้าให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่าในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ตลาดโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ได้คำนึงถึงผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการผลักดันและประยุกต์ใช้กรอบความยั่งยืนในองค์กรอย่างสมดุลตั้งแต่วันแรกที่เริ่มกิจการ และแน่นอนว่า C.P. Group ก็จะยังคงเดินหน้ายกระดับธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจรเพื่อมุ่งขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืนด้านอาหารด้วยกระบวนการจัดหา ผลิต และแปรรูปที่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อยกระดับอาหารให้เปี่ยมด้วยคุณค่า และส่งต่อความดีให้กับสังคม ชุมชน และประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร