รู้จัก ‘เอสซีจี’ องค์กรแห่งนวัตกรรมที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่จุดหมาย แต่คือการเดินทางที่ไม่เคยหยุดนิ่ง - mediator

News รู้จัก ‘เอสซีจี’ องค์กรแห่งนวัตกรรมที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่จุดหมาย แต่คือการเดินทางที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

15.10.2021

TJRI
รู้จัก ‘เอสซีจี’ องค์กรแห่งนวัตกรรมที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่จุดหมาย แต่คือการเดินทางที่ไม่เคยหยุดนิ่งのメイン画像

“เอสซีจี” หนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและองค์กรธุรกิจชั้นนำของอาเซียน เอสซีจีเดินทางมาถึงปีที่ 108 แห่งการสั่งสมประสบการณ์ ผ่านทั้งความยากลำบากและความสำเร็จต่างๆ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงต่อวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในหลายมิติ เดิมทีเราส่วนใหญ่รู้จักเอสซีจีในแง่ของผู้นำด้านธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ทว่าในปัจจุบันเอสซีจีประกอบไปด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งล้วนแต่ดำเนินงานบนเส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน และในครั้งนี้เรากำลังจะพาทุกท่านไปรู้จักกับเอสซีจีให้มากขึ้นในฐานะบริษัทของไทยที่มีส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างยาวนาน รวมถึงโอกาสของนักลงทุนญี่ปุ่นในการพัฒนาความร่วมมือกับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างไปพร้อมๆ กัน

เอสซีจีกับเส้นทาง 108 ปีของการเติบโต

ก่อนที่จะเป็นเอสซีจีในทุกวันนี้ หลายท่านคงคุ้นเคยกับชื่อของ “ปูนซิเมนต์ไทย” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเอสซีจีในปีพ.ศ. 2456 อันเกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ที่ประสงค์ให้มีการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อใช้เองภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ก่อนจะเริ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างอย่างการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาในปี พ.ศ. 2481 และขยับขยายกิจการไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ จนเป็นบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี (SCG) ในทุกวันนี้ โดยตลอด 108 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงและเติบโตพร้อมกับช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับในวงกว้าง อีกทั้งเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับโลก

เอสซีจีที่ไม่ได้มีแค่ซีเมนต์

ในปัจจุบันเอสซีจีดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
1. ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง – ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างครบวงจร รวมทั้งให้บริการด้าน Construction Solutions, Living Solutions และธุรกิจค้าปลีก
2. ธุรกิจเคมิคอลส์ – ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ครบวงจรตั้งแต่เคมีภัณฑ์ขั้นต้น อาทิ โอเลฟินส์ ไปจนถึง ขั้นปลาย ได้แก่ เม็ดพลาสติกประเภท พอลิเอทิลีน พอลิโพรพิลีน พอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิสไตรีน และเอ็มเอ็มเอ
3. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง – ผลิตและจำหน่ายกระดาษและบรรจุภัณฑ์ครบวงจรด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับโลก พร้อมบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการ โดยปัจจุบันได้เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในชื่อ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP
โดยเอสซีจีมีการดำเนินธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ที่มีบริษัทย่อยภายใต้แบรนด์มากกว่า 200 บริษัท พนักงานชาวไทย และต่างชาติกว่า 50,000 คน เพื่อสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เปิดรายได้ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของเอสซีจี

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเป็นธุรกิจแรกและธุรกิจหลักของเอสซีจี ธุรกิจในกลุ่มนี้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง อาทิ คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตมวลเบา กระเบื้องหลังคา แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ไม้สังเคราะห์ ระบบหลังคา รวมถึงโซลูชันด้านที่อยู่อาศัยอื่นๆ สำหรับกำลังการผลิตหลัก เอสซีจีสามารถผลิตปูนซีเมนต์เทาได้ 23 ล้านตันต่อปี สินค้ากลุ่มหลังคา 98 ล้าน ตร.ม. ต่อปี สินค้ากลุ่มฝา ฝ้า และไม้สังเคราะห์ 113 ล้าน ตร.ม. ต่อปี กระเบื้องเซรามิกปูพื้นและผนัง 225 ล้าน ตร.ม. ต่อปี และมีโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ 570 โรงงาน โดยในปี 2563 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีผลการดำเนินงานคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 40% ของรายได้ทั้งหมดของเอสซีจี โดยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของ 2564 เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 4% เทียบกับครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจอันเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่มีความท้าทายเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เอสซีจีก็ยังคงยืนหยัดอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมไปถึงการลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง

‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ หัวใจของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

คงจะไม่ผิดนักหากกล่าวว่าความสำเร็จของเอสซีจีกว่าศตวรรษที่ผ่านมานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินธุรกิจตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งมั่นในการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและครบวงจรตั้งแต่การผลิต บริโภค นำกลับมาใช้ซ้ำ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) รวมถึงมีการปรับโมเดลธุรกิจให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี (Digital Transformation) และรูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งเอสซีจีเองก็มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการต่างๆ อย่างครอบคลุม แต่ก็ไม่ทิ้งวิสัยทัศน์เดิมที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งของตลาดในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับทุกสังคมและชุมชนที่ธุรกิจเข้าไปดำเนินงานจนสามารถพัฒนา และส่งมอบมาตรฐานการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยแบบครบวงจรทั้งสินค้า บริการ โซลูชัน ช่องทางจัดจำหน่ายค้าปลีก การค้าระหว่างประเทศและการขนส่งเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

องค์กรแรกในอาเซียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก ดัชนีความยั่งยืนจาก DJSI

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเอสซีจีมีการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยมีนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงมีการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้เป็นองค์กรแรกในอาเซียนที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices – DJSI) ให้เป็นที่ 1 ของโลกในสาขาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง (Industry Leader – Construction Materials) และอยู่ในระดับ Gold Class ทั้งยังได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ร่วมในกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง (Industry Group Leader – Materials) นับเป็นองค์กรแรกในอาเซียนที่ได้รับการประเมินให้เป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องยาวนานเป็นปีที่ 17 ถือเป็นเครื่องสะท้อนความสำเร็จส่วนหนึ่งของการทุ่มเทตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังของเอสซีจี


‘Open Innovation’ กุญแจปลดล็อค สู่ประตูการเติบโตทางธุรกิจ

เอสซีจีเชื่อมั่นว่านวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ซึ่งเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กรจะช่วยให้เอสซีจีสามารถก้าวไปสู่การเติบโตและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างเอสซีจีกับมหาวิทยาลัย องค์กร สถาบัน และพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลก เช่น สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ บริษัท ดาว เคมิคอล บริษัท ดูปองท์ จำกัด ฯลฯ สำหรับประเทศญี่ปุ่นเอง เอสซีจีได้จับมือกับบริษัท ยามาโตะ เอเชีย จำกัด ผู้นำการตลาดการขนส่งพัสดุย่อยประเทศญี่ปุ่นเพื่อวิจัยตลาดและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยกว่า 1 ปี ใช้งบกว่า 633 ล้านบาทเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการส่งมอบบริการที่ตอบความต้องการของตลาดและผู้บริโภคและเกิดเป็น “SCG Express” ธุรกิจส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน รวมถึงความร่วมมือกับบริษัท เซกิซุย เคมิคอล จำกัด ผู้ชำนาญด้านเทคโนโลยีการสร้างบ้านจากญี่ปุ่นที่ก้าวล้ำด้วยการใช้หุ่นยนต์ประกอบบ้านในโรงงาน ควบคู่กับการรักษามาตรฐานคุณภาพการสร้างบ้านระบบโมดูล่าร์จนเกิดเป็น ‘SCG HEIM System’ ระบบการสร้างบ้านที่ปฏิวัติการก่อสร้างบ้านของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

โอกาสและสิ่งที่เอสซีจีต้องการความร่วมมือทางธุรกิจจากองค์กรญี่ปุ่น

สตาร์ทอัพ องค์กร หรือสถาบันวิจัยสัญชาติญี่ปุ่น สามารถนำเสนอ Proposal เพื่อเพิ่มโอกาสพัฒนาความร่วมมือกับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกับเอสซีจีและเครือข่ายระดับโลกที่เกี่ยวข้องในด้านต่อไปนี้
1. Technology Partner ด้าน Industry 4.0 หรือดิจิทัลสำหรับการผลิตเพื่อช่วยบริหารความแม่นยำในการจัดการโรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร รองรับอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลทวิน โดยเฉพาะระบบดำเนินการอัจฉริยะ (Smart Digital Operation) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ต่างๆ
2. Technology Partner ด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็น Ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรสำหรับลูกค้าธุรกิจและองค์กร
3. Technology Partner ด้านระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Living) ที่เป็นการนำอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกบ้านเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยระบบซอฟต์แวร์เพื่อให้สามารถควบคุมอุปกรณ์ได้อย่างอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันเพื่อมอบความสะดวกสบาย พร้อมช่วยประหยัดพลังงาน
4. Technology Partner ด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือวิกฤติการณ์ภูมิอากาศจากกระบวนการผลิตเพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเทคโนโลยีที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงงานและก่อให้เกิดสินค้ามูลค่าสูง
5. Technology Partner ด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ที่ช่วยให้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตจากซีเมนต์หรือคอนกรีตมีน้ำหนักเบา แข็งแรง มีสุขอนามัยที่ดี ทนความร้อน กันเสียง ติดตั้งง่าย และประหยัดเวลา รวมทั้งผลิตภัณฑ์สีเขียวและผลิตภัณฑ์สุขอนามัยที่ดีที่ช่วยส่งเสริมให้มีสุขอนามัยที่ดี

การที่เอสซีจีสามารถก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรชั้นนำของไทยและเอเชียได้นั้น ไม่ได้เกิดจากการมองแค่ผลกำไรในระยะสั้น แต่คือการสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนสอดรับกับแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยไม่ละทิ้งสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จนสามารถฝ่าฟันวิกฤติ นำพาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดเส้นทางของการดำเนินธุรกิจ เอสซีจีได้ผ่านการเรียนรู้ ปรับตัว พัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับเป็นองค์กรต้นแบบชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมก้าวสู่การแข่งขันในระดับโลกอย่างเต็มตัว

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง