“มิตรผล” ความหวานที่มีมากกว่าแค่อ้อยและน้ำตาล กับอนาคตของอุตสาหกรรม Bio-based - mediator

Blog “มิตรผล” ความหวานที่มีมากกว่าแค่อ้อยและน้ำตาล กับอนาคตของอุตสาหกรรม Bio-based

30.09.2021

TJRI
“มิตรผล” ความหวานที่มีมากกว่าแค่อ้อยและน้ำตาล กับอนาคตของอุตสาหกรรม Bio-basedのメイン画像

ทุกคนรู้จัก “มิตรผล” ในนามของแบรนด์น้ำตาลที่อยู่เคียงคู่วิถีชีวิตคนไทยมายาวนานกว่า 65 ปี แต่รู้หรือไม่ว่าผลิตผลหลักทางการเกษตรของประเทศไทยอย่าง “อ้อย” ไม่ได้มีประโยชน์แค่ผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก อีกทั้งเป็นตัวช่วยสำคัญสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม Bio-based ที่กำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน วันนี้ mediator ได้รับเกียรติจากคุณประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่แห่งกลุ่มมิตรผล มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องราว โอกาส ความสำเร็จ และทิศทางของกลุ่มมิตรผล ตลอดจนเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นมาทำความรู้จักกับบริษัทผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก

จากโรงน้ำเชื่อมเล็กๆ สู่ผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย

กลุ่มมิตรผล (Mitr Phol Group) ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2489 ณ ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยเริ่มจากการเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนขนาดเล็กที่ผลิตน้ำเชื่อมส่งขายให้โรงงานผลิตน้ำตาลทราย เพียงสิบปีต่อจากนั้น กลุ่มมิตรผลก้าวสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมโรงงานที่สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้เองเป็นครั้งแรก ก่อนจะขยายอาณาจักรผลิตน้ำตาลไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และหลายภูมิภาคทั่วโลก อาทิ ลาว จีน ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย รวมแล้วกว่า 18 โรงงาน บนพื้นที่รวมกว่า 2.5 ล้านไร่ สามารถรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมิตรผลสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย ด้วยความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์อันกว้างไกล

เมื่อ “มิตรผล” ไม่ได้เป็นแค่บริษัทผลิตน้ำตาล แต่ยังเป็นเจ้าของ 7 กลุ่มธุรกิจที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้

เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะทราบว่ากลุ่มมิตรผลไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้นำด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลรายใหญ่ของไทยและของโลก แต่ยังมีธุรกิจในเครืออีกกว่า 7 กลุ่มธุรกิจ อาทิ กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มธุรกิจส่งเสริมและพัฒนาอ้อย กลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ กลุ่มธุรกิจการลงทุนเกี่ยวกับการขนส่งและการลงทุนทางการค้า กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ธุรกิจปุ๋ยและธุรกิจยีสต์และอาหารเสริมสำหรับสัตว์ เป็นต้น และในปัจจุบัน กลุ่มมิตรผลกำลังให้ความสำคัญกับการผลักดันธุรกิจชีวภาพ (Bio-based Business) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเน้นการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับการบริหารจัดการแบบบูรณาการเพื่อสร้างคุณค่าและความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ด้วยการเปลี่ยนน้ำตาลและอ้อยให้เป็นผลิตภัณฑ์ Bio-based

จากแนวคิด “From Waste to Value” แก่นแท้ของการเติบโตอย่างยั่งยืนและจุดกำเนิดของธุรกิจในเครือ

โลกในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย อันเกิดจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า กลุ่มมิตรผลจึงมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจบนแนวคิดการจัดการแบบ “From Waste to Value” ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของเหลือทิ้ง ด้วยการนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรม พลังงานทดแทน และธุรกิจอื่นๆ อาทิ การนำชานอ้อย (Bagasse) มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าชีวมวล และผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในกลุ่มธุรกิจและจำหน่ายสู่ภายนอก การนำกากน้ำตาล (Molasses) มาหมักกับยีสต์เพื่อผลิตเป็นเอทานอล การนำน้ำกากส่า (Vinasse) ที่เป็นของเสียจากกระบวนการผลิตเอทานอลมาพัฒนาร่วมกับกากหม้อกรอง (Filter Cake) ที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล มาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเพื่อนำกลับไปใช้ในไร่อ้อย เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยแก่นแท้ของการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยต่อยอดสิ่งที่เหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง

คว้ารางวัลความยั่งยืนระดับ Silver Class จากการจัดอันดับของ S&P Global 2021

การทำธุรกิจในโลกปัจจุบันไม่ใช่เพียงการมุ่งแสวงหากำไรเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมุ่งมั่นสร้างความยั่งยืน มิตรผลจึงได้รับรางวัลความยั่งยืนระดับ Silver Class ในกลุ่ม Food Product จากการจัดอันดับของ S&P Global ผู้ให้บริการข้อมูลด้านการเงิน และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน ที่คำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ตามกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ควบคู่ไปกับการสร้างผลประกอบการที่ดี เดินหน้าเติบโตอย่างสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม

BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสีเขียวสู่ความยั่งยืนระยะยาว

ในการวางโมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวในยุคปัจจุบันจำเป็นจะต้องมีปัจจัยด้านความยั่งยืนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า การรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด BCG Model คือหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจที่กลุ่มมิตรผลนำมาใช้เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อผลักดันความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และพร้อมพัฒนาสิ่งต่างๆ สู่ความยั่งยืนระยะยาว ด้วยการต่อยอดสินค้าเกษตรอย่างอ้อยสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยนวัตกรรม อาทิ โครงการแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ โครงการนวัตกรรมจากยีสต์ และโครงการนวัตกรรมอาหารสุขภาพพรีไบโอติกส์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มมิตรผลเชื่อว่าโมเดล BCG นี้จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานรากสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

New S-Curve ของกลุ่มมิตรผล ต่อยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเริ่มเห็นการดิสรัปชันในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลก กลุ่มมิตรผลเองก็เช่นกันที่แต่เดิม First S-Curve เป็นเพียงการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลและการปลูกอ้อย ต่อมาจึงริเริ่มโครงการเพิ่มผลผลิตอ้อยด้วยการทำเกษตรสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม (Mitr Phol ModernFarm)” แนวทางการทำไร่อ้อยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี ไม่เผาอ้อย โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีตลอดจนเครื่องจักรกลทางการเกษตร ร่วมกับการพัฒนาพันธุ์อ้อย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ลดต้นทุน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปรับปรุงคุณภาพดิน จนได้รับการรับรองมาตรฐานบองซูโคร (Bonsucro) เป็นรายแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลด้านการดำเนินงานที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ก่อนจะริเริ่มธุรกิจพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานชีวมวล (Biomass Power) ไบโอเอทานอล (Bio-Ethanol) และปุ๋ย (Fertilizer)

ในเวลาต่อมา สำหรับ New S-Curve ของกลุ่มมิตรผลที่น่าจับตามอง คือ การต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Product) เช่น ยีสต์สำหรับคนและสัตว์ พรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์ เอนไซม์ในอาหารสัตว์ ฯลฯ เพื่อผลักดันธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว ซึ่งแต่ละธุรกิจต่างก็มีเป้าหมายร่วมกันคือ การมองหาโอกาสใหม่ที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมให้ธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นได้ เพื่อให้สามารถสร้างกลุ่มธุรกิจครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างยั่งยืน

นำร่องการสร้าง Ecosystem ร่วมกับพันธมิตร ใจกลางเมืองขอนแก่น

กลุ่มมิตรผลยังได้ทำหน้าที่เป็นเรือธงในการสร้างศูนย์นวัตกรรม Khon Kean Innovation Center (KIC) ขึ้นที่ขอนแก่นบนแนวคิด Smart Building และ Energy Saving โดยหมายจะปั้นให้เป็นศูนย์ Innovation Hub เพื่อสร้าง Eco-Environment ในการบ่มเพาะธุรกิจ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพหรือไบโอเทค (Biotech) ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ภายในอาคารสูง 28 ชั้น บนพื้นที่กว่า 53,000 ตารางเมตรแห่งนี้ประกอบด้วยศูนย์วิจัย ศูนย์การศึกษา ศูนย์ข้อมูล ศูนย์นวัตกรรม ห้องปฏิบัติการ ศูนย์การประชุม ศูนย์ให้บริการด้านธุรกิจแบบครบวงจร ส่วนที่พักอาศัย และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อตอบรับวิถีแห่งโลกยุคใหม่ โดยคาดว่าจะเปิดบริการได้ในช่วงเดือนเมษายนของปี 2565 นี้

โอกาสและสิ่งที่กลุ่มมิตรผลต้องการความร่วมมือจากองค์กรญี่ปุ่น

กลุ่มมิตรผลเชื่อว่าความสำเร็จในด้านนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งเพื่อสร้างนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ด้วยหลัก “M-T-O” คือ มีทีมการตลาดที่ดี มีทีมเทคโนโลยีที่ดี และมีทีมดำเนินการที่ดี กลุ่มมิตรผลจึงกำลังมองหาความร่วมมือจากองค์กรญี่ปุ่น โดยเฉพาะสายผลิตภัณฑ์ Bio-based ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มิตรผลให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาทิ Bio-based Chemicals, Bio-based Material, Bio-Fertilizer, Food for the Future และ Feed for the Future โดยกลุ่มมิตรผลจะมีทรัพยากรตั้งต้นสำหรับการพัฒนาให้ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากธุรกิจในเครือ เช่น อ้อย ชานอ้อย กากน้ำตาล น้ำกากส่า กากหม้อกรอง ฯลฯ และ co-product และ by product ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต รวมถึงโรงงานต่างๆ อาทิ โรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานผลิตยีสต์และผลิตภัณฑ์จากยีสต์ โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี โรงงานผลิต FOS (Fructo-Oligosaccharide) เป็นต้น โดยองค์กรหรือสถาบันวิจัยสัญชาติญี่ปุ่นสามารถนำเสนอ Proposal เพื่อร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลในการต่อยอดโอกาสใหม่ๆ ต่อไป

จะเห็นได้ว่ากลุ่มมิตรผลไม่เพียงมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่มีการทำเกษตรกรรมเป็นหลักให้มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน เพราะแก่นแท้ของการเติบโตอย่างยั่งยืนคือการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เกื้อกูลกัน ใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เกิดการหมุนเวียน สร้างสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชนสู่สังคมเพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยที่มั่นคงต่อไป

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร