Spiber รังสรรค์นวัตกรรมใหม่ ด้วยแรงบันดาลใจจากใยแมงมุม สู่เส้นใยโปรตีนสังเคราะห์ - mediator

Blog Spiber รังสรรค์นวัตกรรมใหม่ ด้วยแรงบันดาลใจจากใยแมงมุม สู่เส้นใยโปรตีนสังเคราะห์

05.07.2021

TJRI
Spiber รังสรรค์นวัตกรรมใหม่ ด้วยแรงบันดาลใจจากใยแมงมุม สู่เส้นใยโปรตีนสังเคราะห์のメイン画像

“ถ้าเชื่อว่าเราทำได้ ก็ทำได้”

ประโยคที่ผุดขึ้นในหัวหลังจากได้ฟังงาน Webinar ภายใต้หัวข้อ Unicorn Startup ไบโอเทคญี่ปุ่น ที่ได้สัมภาษณ์คุณ Keisuke Morita Managing Director Spiber Thailand เกี่ยวกับเรื่องราวของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนความสำเร็จของ Spiber ในการสังเคราะห์เส้นใยโปรตีนนี้

จุดเริ่มต้น Unicorn Startup มาจากการวิจัยในห้องแล็บของมหา’ลัย

คุณ Morita เล่าว่า ย้อนกลับไปในช่วงที่คุณ Sekiyama ผู้ก่อตั้งบริษัท กำลังเรียนมหา’ลัย Keio และต้องทำวิจัย เขาได้พบอาจารย์ Masaru Tomita ผู้ที่แตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่น เป็นทั้งที่ปรึกษา แรงบันดาลใจ ตลอดจนผู้ที่ให้อิสระทางความคิด เมื่อได้อาจารย์ดีพร้อมสนับสนุน ยิ่งทำให้คุณ Sekiyama มีไฟในการทำวิจัย ซึ่งสาเหตุที่เลือกทำเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์ เพราะได้แรงบันดาลใจจากใยแมงมุม เส้นใยที่มีความทนทานและแข็งแรงที่สุด จึงนำมาวิจัย ค้นคว้าและพัฒนาต่อยอด นอกจากนี้ยังพบว่า เส้นใยโปรตีนสังเคราะห์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายอุตสาหกรรม

ศรัทธามุ่งมั่น จริงจัง จนก่อตั้งบริษัท

คุณ Morita เผยว่า ความเชื่อศรัทธาและความกล้าบ้าบิ่นของคุณ Sekiyama ทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Spiber ขึ้นในปี 2007 ซึ่งตอนนั้นเขาอายุเพียง 24 ปี และยังเรียนปริญญาโทไม่จบด้วยซ้ำ โดยที่มาของชื่อบริษัท Spiber ก็มาจาก Spider (แมงมุม) และ Fiber (เส้นใยไฟเบอร์) ด้วย

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

หลังจากจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทได้ 1 ปี คุณ Sekiyama ทำเส้นใยสังเคราะห์สำเร็จ แต่มีความยาวเพียง 2 ซม. เท่านั้น ด้วยความพยายามไม่ลดละในปี 2009 เขาพัฒนาเส้นใยได้ยาว 2 เมตร กระทั่งปี 2011 เขาก็ทำเส้นใยออกมาใช้งานได้สำเร็จ จนมีนักลงทุนเห็นโอกาสเข้ามาร่วมทุน อย่างบริษัท Kojima Industry Corporation บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ เป็นบริษัท Tier1 ของ Toyota

ไม่เพียงเท่านั้น ในปีเดียวกัน Spiber ยังได้รับเลือกเป็นโครงการวิจัยระดับชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น จึงส่งผลให้ Spiber เริ่มมีชื่อเสียงและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ที่ผ่านมา บริษัท Spiber ได้ระดมทุน (Fundraising) จากนักลงทุนมากมาย โดยได้งบลงทุนประมาณ 35,000 ล้านเยนหรือประมาณหมื่นล้านบาทก็เป็นอีกหลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดว่านักลงทุนส่วนใหญ่เห็นโอกาสในธุรกิจตัวนี้

อนาคตอันยิ่งใหญ่ของเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์

ตอนนี้ Spiber มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอก่อน โดยวิธีการสร้างเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์ของ Spiber นั้น เริ่มจากการออกแบบโครงสร้างของดีเอ็นเอ จากนั้นนำดีเอ็นเอที่สังเคราะห์ใส่ลงไปในจุลินทรีย์ เพื่อให้จุลินทรีย์ผลิตโปรตีนออกมาตามแบบที่ต้องการ ต่อมาก็เข้าสู่กระบวนการ 2 ขั้นตอน ได้แก่ การหมัก (Fermentation) และการสกัด (Refinery) เฉพาะโปรตีนบริสุทธิ์ทำให้แห้งจนได้เป็นโปรตีนผง สุดท้ายก็นำผงเหล่านั้นขึ้นรูปเป็นวัสดุอื่นๆ ต่อไป อาทิ เสื้อผ้า เจล ฟองน้ำ แผ่นฟิล์ม ฯลฯ ซึ่งคุณ Morita เผยว่า มีชื่อทางการค้าสำหรับเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์ เพื่อรองรับ Mass Production แล้ว นั่นคือ Brewed Protein™

ทำไมถึงเลือกประเทศไทยในการตั้งฐานการผลิต

คุณ Morita เล่าว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรที่สำคัญต่อการผลิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำตาล ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ อีกทั้งสาธารณูปโภคเพียบพร้อม การเดินทางระหว่างไทยและญี่ปุ่นไม่ไกล ตลอดจนหาบุคลากรทำงานไม่ยาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเลือกตั้งโรงงาน Spiber Thailand ที่จังหวัดระยอง ซึ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2021 ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 40 คน โดยบทบาทการทำงานทั้ง 2 ที่ แตกต่างกัน สำหรับ Spiber Head Quarter ที่ญี่ปุ่นเน้นวิจัยคิดค้นและพัฒนาเป็นหลัก ส่วนสาขาในไทย เน้นการผลิต หรือสกัดโปรตีนเป็นผงเพื่อส่งกลับไปที่ญี่ปุ่นให้ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์

ความหลากหลายทางชีวภาพ ศึกษาชีววิทยา คือ ที่มา ในการทำเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์

นอกจากแรงบันดาลใจที่เอ่ยไปก่อนหน้าถึงเรื่องใยแมงมุม คุณ Morita ยังเสริมถึงที่มาในการเลือกทำวัสดุตัวนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ต่างมีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งทุกสายพันธุ์มีแหล่งโปรตีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวิต โดยโครงสร้างหลักพื้นฐานของโปรตีนเกิดจากการเชื่อมต่อกันของกรดอะมิโนแอซิด (Amino acid) กว่า 20 ชนิด โดยชนิดและการเรียงลำดับของกรดอะมิโนมีความเฉพาะเจาะจง ทำให้เกิดเป็นโครงสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น หนังวัว ใยแมงมุม หนังงู ขนแกะ และเมื่อโปรตีนที่ซ่อนตัวอยู่ในความหลากหลายทางชีวภาพสามารถทำให้เกิดลักษณะที่แตกต่างกันได้ แล้วทำไมเราจะผลิตวัสดุออกมาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างกันไม่ได้ นั่นจึงเป็นแนวคิดตั้งต้นให้ทาง Spiber วิจัย ค้นคว้า และพัฒนาการออกแบบโครงสร้างหรือสังเคราะห์ดีเอ็นเอใส่ลงไปในจุลินทรีย์จนกว่าจะได้แบบที่ดีที่สุด เพื่อต่อมาจะได้นำไปสรรสร้างผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่ต้องการในแต่ละอุตสาหกรรม


ผลงานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

Spiber เคยพัฒนาร่วมกับ The North Face แบรนด์เสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น โดยนำเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์ผลิตเป็นเสื้อยืดและเสื้อกันหนาวออกมาจำหน่ายในปี 2019 ขณะเดียวกันได้มีโอกาสทำงานร่วมกับดีไซน์เนอร์ชื่อดังระดับไฮเอนด์ คุณ Yuima Nakazato ที่นำเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์จาก Spiber ไปออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าและนำชุดทั้งหมดไปออกงานแฟชั่นโชว์ที่ Paris Fashion Week 2019 – 2020 ปัจจุบัน Spiber ได้ทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับบริษัทต่างๆ มากกว่า 40 โปรเจกต์ ซึ่งมีการทำวิจัยร่วมกับมหา’ลัยชื่อดังและบริษัทในเมืองไทยอีกด้วย

เป้าหมายไม่ใช่แค่ทำนวัตกรรมล้ำสมัย แต่ต้องทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากอดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 14 ปี ไม่น่าเชื่อว่า Spiber จะไม่มียอดขายเลย แต่ที่อยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจากนักลงทุนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงทำให้ Spiber สามารถคิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยี จนออกมาเป็นเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งอนาคตข้างหน้ายังมีเรื่องท้าทายเป้าหมายอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน เนื่องด้วยราคาของการผลิตเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์ขึ้นมายังสูงอยู่มาก ผลิตโปรตีนปริมาณ 1 กิโลกรัมก็ใช้ต้นทุน 3 พันกว่าบาท แต่คุณ Morita มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้มากกว่านี้ เพราะตั้งใจนำวัสดุสู่เส้นทางการผลิตแบบ Mass Production

ขณะเดียวกัน Spiber ได้วางแผนการทำ License เกี่ยวกับเทคโนโลยีไบโอชีวภาพตัวนี้ให้สำเร็จ เพื่อจะได้นำไปเสนอให้ประเทศต่างๆ ที่สนใจสามารถตั้งโรงงานผลิตได้เองด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ Spiber ยังไม่ละทิ้งเป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาและผลิตเส้นใยโปรตีนสังเคราะห์ให้มีความทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Biodegradable) สามารถย่อยสลายได้ เพื่อนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนมุ่งหวังให้เป็นบริษัทผลิตเส้นใยครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

จะเห็นได้ว่า Spiber ไม่ใช่แค่บริษัทที่สนใจเพียงแต่การคิดค้นนวัตกรรมหรือหวังกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เขายังตั้งใจวางตัวเองให้เป็นองค์กรสีเขียวด้วยการทำวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน เน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อทำให้เป็นแบบอย่างของการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตระหนักถึงภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแต่ละพื้นที่ของโลก…

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร