สรุปสัมมนาทิศทางหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่ “อนาคต” อย่างยั่งยืน - mediator

Blog สรุปสัมมนาทิศทางหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่ “อนาคต” อย่างยั่งยืน

07.09.2021

event
สรุปสัมมนาทิศทางหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น เพื่อมุ่งสู่ “อนาคต” อย่างยั่งยืนのメイン画像

เบื้องหลังความสำเร็จของงานนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ

สัมมนาออนไลน์เชิงวิชาการ “Envisioning the Future : Thailand-Japan Strategic Economic Partnership” มองอนาคตหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่นในครั้งนี้ mediator ได้รับโอกาสให้เป็นผู้ดำเนินงานตั้งแต่การวางแผนงาน รวมถึงการจัดงานในวันจริงทั้งหมด ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีและสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้พวกเราได้เปิดมุมมองใหม่ๆ และเห็นความเป็นไปได้ในหลากหลายด้านมากยิ่งขึ้น เป็นการยกระดับความสามารถของ mediator พร้อมนำความรู้ที่ได้จากการจัดงานครั้งนี้ไปเป็นแนวทางการดำเนินงาน และกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้ในอนาคต

งานสัมมนาเชิงวิชาการส่วนใหญ่ เนื้อหาที่พูดในงานสัมนาอาจจะค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับประชาชนทั่วไป แต่เนื่องจากงานสัมมนาในครั้งนี้ เป็นงานสัมนาเชิงวิชาการเพื่อกำหนดทิศทางของหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ทาง mediator จึงให้ความสำคัญกับการเลือกวิทยากรมาร่วมงานมากเป็นพิเศษ โดยได้นำเสนอวิทยากรที่เป็นบุคลากรของรัฐ และนักธุรกิจของทั้งสองประเทศ เพื่อให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายจากภาคธุรกิจของทั้งทางฝั่งไทยและฝั่งญี่ปุ่น รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ฝั่งภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจร่วมกัน ทำให้สารที่จะส่งออกไปสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในวันงาน คุณกันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด รับหน้าที่หลักในการดำเนินงาน ต้อนรับทั้งผู้เข้าร่วมและวิทยากรทั้งสองประเทศ ตลอดจนใช้ภาษาไทย – ญี่ปุ่น 2 ภาษาในการดำเนินรายการ ซึ่งในส่วนของการดำเนินงานในวันจริงนั้น ทางบริษัท mediator ได้รับผิดชอบการจัดงานทั้งหมด ตั้งแต่การติดต่อประสานงานกับทั้งฝั่งไทยและญี่ปุ่น การเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในงาน เนื่องจากทางบริษัทมีบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลาย ทำให้สามารถดำเนินการทุกอย่างออกมาได้อย่างราบรื่นในทุกๆ ขั้นตอน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ “จุดแข็ง” ที่เกิดมาจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 10 ปีของ mediator

คุณกันตธร วรรณวสุ ได้กล่าวทิ้งท้ายสำหรับงานในครั้งนี้ว่า “รัฐบาลของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในเชิงเศรษฐกิจและการลงทุนกันมานานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ประเทศไทยมีโครงการ Eastern Seaboard เป็นต้นมา แต่เราก็ยังควรจะต้องหาวิธีกระชับความสัมพันธ์ของระหว่างทั้ง 2 ประเทศให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐบาลมักจะเป็นผู้ริเริ่มสร้างเวทีในการพูดคุยเพื่อวางแผนเศรษฐกิจและการลงทุนมาโดยตลอด แต่หลังจากนี้ ผมคิดว่าหน่วยงานเอกชนเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ร่วมเป็นผู้คิดริเริ่มด้วยตั้งแต่ต้นกระบวนการ ซึ่งบริษัท mediator ในฐานะที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานเอกชนในประเทศไทย ก็มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างสูงที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ ผมรู้สึกจากใจจริงว่า งานนี้คืองานที่ทำให้บริษัท mediator ประสบความสำเร็จ เป็น mission ที่เราให้คำมั่นสัญญาไว้ตั้งแต่วันที่เราเริ่มต้นบริษัทตลอดมา”

หลังจากนี้ mediator ก็ยังคงยึดมั่นที่จะทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้เป็นสื่อกลาง” ให้สมกับความหมายของชื่อบริษัทฯ ต่อไป เพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาพูดคุยระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานเอกชน ที่มีแนวคิดใหม่ๆ และความตั้งใจที่จะเดินหน้าจับมือประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน

การสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อกำหนดและทิศทางของ หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ใน “อนาคต” อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยจัดสัมมนาเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ “Envisioning the Future: Thailand-Japan Strategic Economic Partnership” ผ่านระบบ Zoom Webinar เพื่อรับฟังมุมมองจากฝ่ายบริหารของรัฐบาล และบุคคลในแวดวงเศรษฐกิจของไทยและญี่ปุ่นทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการและภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางและข้อเสนอแนะในการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 1,203 คน และมีผู้เข้าร่วมรับฟังในวันสัมมนาจำนวน 978 คน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวปาฐกถา (Keynote Speech) ภายใต้หัวข้อ “Way forward for Thailand-Japan Relations in the post COVID-19 World” โดยได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่มีความแน่นแฟ้นในทุกมิติมาตลอด 134 ปี เป็นมิตรแท้ที่ผ่านความท้าทายและช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมอในทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม และวิธีชีวิตของมนุษย์ ทำให้ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าการพัฒนาและสร้างระบบต่างๆ หลังจากนี้จะต้องมุ่งไปในทิศทางที่เน้นความยั่งยืนและความครอบคลุม (Sustainable and Inclusive growth) เพื่อสร้างสรรค์สันติภาพ ความเจริญมั่งคั่ง และความสุขที่ยั่นยืนของประชาชนให้กับทุกเขตเศรษฐกิจ ภูมิภาค และโลก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอแนวทางความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยการสอดประสานนโยบาย BCG Economy Model ซึ่งเป็น new growth paradigm ของไทย กับยุทธศาสตร์ Green Growth ของญี่ปุ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นใน 4 เรื่อง ได้แก่

(1) การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (ZEV) อย่างสมบูรณ์ โดยอาศัยประสบการณ์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์สำคัญในตลาดโลกมากกว่า 30 ปี และมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากญี่ปุ่น

(2) การสร้าง Bio-Cycle ที่ประกอบด้วย Bio-Fuel และ Bio-Mass ในวงจรเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตด้านนี้ จึงประสงค์ให้เอกชนญี่ปุ่นมาลงทุนในด้านนี้เพิ่มเติม

(3) อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารครบวงจรจากความหลากหลายของทรัพยากรทางชีวภาพ โดยเชิญชวนให้เอกชนญี่ปุ่นที่มีความก้าวหน้าในด้านนวัตกรรมที่ทันสมัยมาร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน Global Value Chain

(4) การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาแรงงานทักษะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG Economy โดยการเร่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันโคเซ็นในไทย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจกับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนของเอกชนญี่ปุ่นในไทย โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้บรรยายพิเศษ (Special Lecture) ภายใต้หัวข้อ “Towards a new stage of Japan-Thailand cooperation” โดยได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ไม่ทอดทิ้งกันในยามยากลำบาก ทั้งในช่วงที่ญี่ปุ่นประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ และไทยเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยทั้งสองฝ่ายได้แสดงไมตรีจิตให้ความช่วยเหลือกันและกัน และเมื่อไม่นานนี้ ญี่ปุ่นได้มอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน 1 ล้าน 5 หมื่นโดสแก่ไทย และได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ ยังได้ย้ำความสำคัญของไทยในฐานะการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยหลังจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยจะมุ่งสู่เวทีความร่วมมือใหม่ๆ โดยหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือใน 2 ประเด็น ได้แก่

(1) การเป็นพันธมิตรต่อกันในความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Co-Creation ที่เน้นการร่วมมือและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นผ่านการระดมปัญญา แก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมในส่วนที่ขาดของกันและกัน แล้วสร้างให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป เช่น ปีที่แล้วญี่ปุ่นได้สนับสนุนการจับคู่ธุรกิจบริษัทสตาร์ทอัพญี่ปุ่นด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และระบบ AI/IoT กับผู้ประกอบการไทยหลายโครงการ

(2) การสร้างความแข็งแกร่งและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน (Sustainability) จัดตั้งกองทุน 2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 6 แสนล้านบาท) สำหรับผู้ประกอบการเอกชนนำไปวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Carbon Neutral) ให้เกิดขึ้นได้จริงในปี ค.ศ. 2050 สอดรับกับนโยบาย BCG Model ของไทยที่ถือว่าเป็น Flagship ที่จะช่วยกระตุ้นให้มีการขยายธุรกิจ และการลงทุนใหม่ๆ จากบริษัทญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

ในห้วงการเสวนา (Panel Discussion) ภายใต้หัวข้อ “What now & What next: Thailand-Japan Strategic Economic Partnership in Challenging Time” ซึ่งมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ (1) นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว (2) นายจิระพันธ์ อุลปาทร ประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น (TJIC) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (3) นายอารีย์ ชวลิตชีวินกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด (4) นางสาว YURUGI Yoshiko หัวหน้าผู้แทนประจำสำนักงานผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชีย องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (NEDO) (5) ศาสตราจารย์ ดร. OIZUMI Keiichiro สถาบันเอเชียศึกษามหาวิทยาลัยเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น (6) นาย CHOKKI Morikazu ประธานบริษัท Mitsubishi Motors (Thailand) Co., Ltd. และ (7) นาย MORITA Keisuke กรรมการผู้จัดการ บริษัท Spiber (Thailand) Ltd.

ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสร้างคุณค่าให้กับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในอนาคต โดยการให้ความสำคัญกับการดำเนินความร่วมมือในการสอดประสานโมเดล BCG Economy ของไทยและยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น โดยการเตรียมความพร้อมเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (ZEV) และอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแรงงานฝีมือชั้นสูง และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย โดยการพิจารณาใช้พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นสถานที่รองรับการพัฒนาดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เอกชนญี่ปุ่นซึ่งยังคงเล็งเห็นถึงจุดแข็งของไทยในฐานะฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญในภูมิภาคที่มีในโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายควรจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันระยะ 5 ปี ในโอกาสการครบรอบ 135 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปีหน้า และใช้ประโยชน์จากกลุ่มเอกชนญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่ให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมคลิปบันทึกการสัมมนาฯ ย้อนหลังได้ทางลิงก์ด้านล่างนี้

▼คลิปภาษาไทย
https://youtu.be/GaMu3Jr39cU

▼คลิปภาษาญี่ปุ่น
https://youtu.be/vgyQ4BS3PxM

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร