เปิดตำนาน Smart Industrial 4.0 บทใหม่ไปกับ “Frasers Property Thailand ” ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกรายเดียวในไทย - mediator

Blog เปิดตำนาน Smart Industrial 4.0 บทใหม่ไปกับ “Frasers Property Thailand ” ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกรายเดียวในไทย

07.01.2022

TJRI
เปิดตำนาน Smart Industrial 4.0 บทใหม่ไปกับ “Frasers Property Thailand ” ผู้นำอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกรายเดียวในไทยのメイン画像

บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” ผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของประเทศไทย ทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ พื้นที่เพื่อการค้า อสังหาริมทรัพย์ทางด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่อยู่เบื้องหลังโครงการชั้นนำมากมายในไทย อาทิ โครงการสามย่านมิตรทาวน์ อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (FYI Center) โครงการสาทร สแควร์ (Sathorn Square) โรงแรมดับเบิ้ลยู กรุงเทพ (W Bangkok) เดอะ แอสคอท สาทร (Asscott Sathorn) รวมถึงบ้านและทาวน์โฮมคุณภาพภายใต้แบรนด์ “โกลเด้น” ต่างๆ ซึ่งอยู่ในภายใต้กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ต ผู้พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสเมกะโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “One Bangkok” มูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาทที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ครั้งนี้ Mediator จะพาทุกท่านไปรู้จักกับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) หนึ่งกลุ่มธุรกิจในเครือ FPT กับบทบาทการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ด้วยแนวคิด Smart & Sustainable Logistics Park ที่กำลังจะก้าวมาเป็นผู้นำในวงการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมและโลจิสติกส์อันดับ 1 ของประเทศ

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) กับบทบาทแห่งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมสมัยใหม่

บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “FPIT” เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นทั้งผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับสากล ที่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์ (SGX-ST) และเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (Thai Charoen Corporation Group: TCC Group) กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศไทย ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เสริมสุข จํากัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) รวมอยู่ด้วย ปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) เป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมสมัยใหม่ของประเทศ โดยมีแนวทางการดำเนินธุรกิจในบทบาทของผู้พัฒนา เจ้าของ และผู้บริหารจัดการอาคารโรงงาน คลังสินค้า และเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park) กว่า 30 แห่ง ทั่วประเทศ

สำหรับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) ให้บริการด้านการพัฒนาและบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมให้เช่า (Ready-Built Factory) และอาคารคลังสินค้าให้เช่า (Ready-Built Warehouse) ในนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และเขตอื่นๆ ที่มีศักยภาพในประเทศไทย โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มธุรกิจค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น อเมริกา สิงคโปร์ เยอรมัน และไทย นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าตามความต้องการเฉพาะของผู้เช่า (Built-to-Suit) และโครงการเมืองอุตสาหกรรม (Industrial Township) อีกด้วย

ส่องความเคลื่อนไหวของบริษัทต่างชาติต่อพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทย

ปัจจุบัน บริษัทต่างชาติให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โดยแนวโน้มการลงทุนของบริษัทต่างชาติในพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นเกี่ยวเนื่องกับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ สงครามการค้า (Trade War) สงครามเทคโนโลยี (Tech War) และผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่มีส่วนเร่งให้เกิดภาคการลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าและเทคโนโลยี รวมถึงการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจจีน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานประเทศจีนกำลังตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลง (Disruption) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเครือข่ายการผลิต (Production Network) มากกว่าห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายการลงทุนและการส่งออกในจีนไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น และเพิ่มการส่งออกจากประเทศเหล่านั้นโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) ทั้งจากผู้ประกอบการต่างชาติในจีนและผู้ประกอบการจีนเอง นอกจากนี้ผลกระทบจากภูมิรัฐศาสตร (Geopolitics) ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับเหตุการณ์การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหาสังคม และความขัดแย้งทั้งในและระหว่างประเทศที่มีบทบาทต่อการกำหนดรูปแบบทิศทางการค้าและการลงทุนโลก จะยิ่งส่งผลให้บริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงผู้ประกอบการในไต้หวันและสิงคโปร์หันมาให้ความสนใจกับการลงทุนในไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 กันมากขึ้น

เปิดมุมมองในฐานะผู้บริหารไทยต่ออนาคต EEC

สืบเนื่องจากความสำเร็จของแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ทำให้เกิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) อันเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นลงทุนในด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ทั้ง 5 สาขา ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) และ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ให้พร้อมรองรับการขยายตัวและพัฒนาในหลากหลายด้าน อันจะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นทั้งเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ด้วยการรองรับแรงงานและนักลงทุนจากทั่วโลก ทำให้เกิดการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย มีโครงสร้างพื้นฐานเข้าถึงมากขึ้น ส่งผลให้งานด้านการศึกษา การแพทย์ และเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คุณโสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) มองว่าพื้นที่ EEC ยังขาดเอกภาพในการบริหาร ซึ่งมีความทับซ้อนระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และองค์กรที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย และเห็นว่ารัฐบาลไทยยังต้องให้การผลักดันนโยบายเร่งด่วน ในการการพัฒนา EEC ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เมืองใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการร่วมลงทุนกับเอกชนในลักษณะหุ้นส่วนมหาชน-เอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับนักลงทุนที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

พื้นที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต VS Thailand 4.0 ของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย)

อุตสาหกรรมแต่ละประเภทประกอบไปด้วยความต้องการที่หลากหลายและมีความเฉพาะทาง ทำให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าตามความต้องการเฉพาะของผู้เช่า ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคตต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เพื่อบูรณาการความสามารถในการแข่งขันทุกมิติ ผลักดันศักยภาพของพื้นที่อุตสาหกรรมไปสู่โมเดลไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการร่วมทุนกับบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด (Mitsui Fudosan Co., Ltd.) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของญี่ปุ่นญี่ปุ่นในการในการพัฒนาโครงการบางนา 2 โลจิสติกส์ พาร์ค บนถนนบางนา-ตราด กม. 46 ด้วยการต่อยอดการออกแบบนวัตกรรมคลังสินค้าจากญี่ปุ่น ร่วมกับการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่างๆ เข้ามาบริหารพื้นที่ให้กลายเป็น Smart Factory และ Smart Warehouse ที่ครบครัน ด้วยสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทุกรูปแบบ สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ซึ่งเรียกได้เป็นว่าเป็น Smart & Sustainable Logistics Park แห่งแรกในประเทศไทย ที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้พื้นที่ของลูกค้าทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) ยังกำลังพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดบิ่ญเซือง (Bình Dương) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม รวมถึงมีโครงการที่จะสร้างเมืองอุตสาหกรรม (Industrial Town) ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เพื่อการค้า พื้นที่โลจิสติกส์ และพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยเข้าด้วยกัน ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) บนพื้นที่กว่า 4,700 ไร่บนถนนบาง-ตราด กม. 32 ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้อีกด้วย

แนวทางและความร่วมมือที่เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) ต้องการในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในอนาคต

ปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) มีพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าภายใต้การบริหารจัดการรวมทั้งสิ้นกว่า 3.04 ล้านตารางเมตร กระจายอยู่ในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) มองหาความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในอนาคตในด้านต่างๆ ดังนี้

พื้นที่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Property) ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
・การออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ภายใต้ภาคเศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (New building design for new economy)
・ระบบอัตโนมัติและการจัดการวัตถุดิบ (Automation & Material Handling)
・เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotic)
・เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT)
・เทคโนโลยีเพื่อวงการอสังหาริมทรัพย์ (Property Technology: Prop Tech) และการก่อสร้าง (Construction Technology: Con Tech)

ความยั่งยืน
・การพัฒนาพื้นที่และอาคารสีเขียว (Green Development & Building)
・พลังงานอัจฉริยะและระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy & Management)
・แนวทางการออกแบบพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (Human Centric Features)
・การสร้างสรรค์และพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ (Good Place)

การสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
・โมเดลอุตสาหกรรมในเมือง (In-City Industrial Model)
・เมืองอุตสาหกรรม (Industrial Township)
・พื้นที่เพื่อการค้า (Business Park)

ด้วยแนวทางการบริหารธุรกิจที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้ง รวมถึงความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในด้านอสังหาริมทรัพย์ ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด จึงกลายเป็นผู้นำด้านวงการอสังหาริมทรัพย์ในทุกกลุ่มธุรกิจ ที่ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากลูกค้าทั่วโลก และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีศักยภาพเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนและยกระดับพื้นที่อุตสาหกรรมของไทยไปสู่ยุคใหม่เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร