TJRI สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจและมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น - mediator

Blog TJRI สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจและมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น

16.08.2021

TJRI
TJRI สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจและมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่นのメイン画像

“ตอนเป็นวัยรุ่นผมเห็นเด็กที่อายุน้อยกว่าต้องเดินขายพวงมาลัยตรงสี่แยกริมถนน มันทำให้ผมเห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางรายได้ รวมถึงการได้รับโอกาสที่ไม่เท่ากัน จากจุดนั่นเอง เป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดและแรงผลักดันที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ เป็นเป้าหมายที่อยู่ในใจตลอดมา ว่าสักวันต้องช่วยเหลือผู้คนและสังคมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ให้ได้”

เชื่อว่าทุกคนย่อมมีโอกาสที่จะพบเจอเหตุการณ์ ที่แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เหตุการณ์นั้นกลับเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับคุณกันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมเดิเอเตอร์ จำกัด และ ผู้ก่อตั้งโครงการ TJRI (Thai – Japanese Investment Research Institute) ผู้พบเหตุการณ์ที่สร้างจุดเปลี่ยนทางความคิดที่ติดอยู่ในใจเรื่อยมา จนนำมาสู่ความปราถนาอันแรงกล้าที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลียนแปลงให้กับสังคม โดยการให้โอกาสกับผู้อื่นเหมือนกับที่เขาเคยได้รับ

 Table of Contents

จุดเริ่มต้นในการก่อตั้งบริษัท มาจากการที่ได้มีโอกาสไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น

ย้อนกลับไปตั้งแต่จุดแรกเริ่มของการรู้จักประเทศญี่ปุ่น จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นได้นั้น คุณกันตธรเล่าว่า เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กที่เขาได้ซึมซับและรับอิทธิพลจากคุณพ่อที่ได้ทำงานร่วมกับชาวญี่ปุ่น เขาได้เห็นการทำงานของคุณพ่อ ผนวกกับเคยได้ไปเที่ยวได้ไปสัมผัสเห็นบ้านเมืองของประเทศญี่ปุ่น จึงเกิดหลงรักประเทศนี้ หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย เขาก็ได้มีโอกาสในการไปเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยไซตามะ ที่ประเทศญี่ปุ่น

ทุกๆ ปิดเทอมคุณกันตธรจะเดินทางกลับมาพักผ่อนที่ประเทศไทย ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ปิดเทอมฤดูร้อน คุณกันตธรก็กลับมาพักผ่อนที่บ้านเหมือนกับทุกปี ขณะที่เขานั่งอยู่บนรถติดไฟแดง เขาได้สังเกตเห็นเด็กผู้หญิงอายุราว 10 ขวบ กำลังเดินขายพวงมาลัย นั่นทำให้เขาตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม

“ตอนเป็นวัยรุ่นผมเห็นเด็กที่อายุน้อยกว่าต้องเดินขายพวงมาลัยตรงสี่แยกริมถนน มันทำให้ผมเห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทางรายได้ รวมถึงการได้รับโอกาสที่ไม่เท่ากัน จากจุดนั่นเอง เป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดและแรงผลักดันที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ เป็นเป้าหมายที่อยู่ในใจตลอดมา ว่าสักวันต้องช่วยเหลือผู้คนและสังคมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ให้ได้”

ความคิดต่างๆ เหล่านี้บวกกับประสบการณ์ชีวิตที่ได้พบเจอทั้งที่ไทยและที่ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ค่อยๆ นำมาเรียงต่อกัน เพื่อให้ได้เป้าหมายเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จนเมื่ออายุ 29 ปี คุณกันตธรได้จดทะเบียนบริษัท ชื่อว่า เมดิเอเตอร์ (Mediator) ที่แปลว่า ‘ผู้เป็นสื่อกลาง’

จากล่ามฟรีแลนซ์สู่การเป็นที่ปรึกษาและจับคู่ทางธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ด้วยประสบการณ์มากกว่าทศวรรษ

“ตอนก่อตั้งผมก็ยังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไร ผมรู้แต่เพียงว่าการที่ผมทิ้งตัวเลือกความมั่นคงจากการเป็นพนักงานบริษัท การที่ผมเลือกทำบริษัทของตัวเองนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำพาผมไปสู่เป้าหมาย และผมรู้ความถนัดของตัวเองดีว่า ผมมีความสามารถในเรื่องของการรู้จักคนญี่ปุ่น พูดภาษาญี่ปุ่นได้ นั่นจึงทำให้ผมเริ่มจากการเป็นล่ามฟรีแลนซ์ ช่วงก่อตั้งบริษัทผมไม่มีพนักงานเลยแม้แต่คนเดียว กระทั่งผมทำงานไปได้เรื่อยๆ ผมก็เริ่มได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่น ผนวกกับมีคนเห็นความสามารถให้ผมทำงานประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ ในเวลาไม่นาน จากงานเล็กๆ ก็เริ่มได้รับโอกาสไปสู่โปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้น มีมูลค่าต่องานหลักล้านบาท”



ปัจจุบันเมดิเอเตอร์รับงานทั้ง การเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาด แนะนำเกี่ยวกับการลงทุน การทำ Business Matching การทำ Promotion การจัด Event ในประเทศไทยให้แก่หน่วยงานภาครัฐญี่ปุ่นจำนวนมาก เช่น Ministry of Economy, Trade and Industry (METI), Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries (MAFF), Ministry of Internal Affairs and Communications (MIC), Embassy of Japan in Thailand, Japan External Trade Organization (JETRO), Japan National Tourism Organization (JNTO) ฯลฯ โดยโครงการส่วนใหญ่ได้จากหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่นมากกว่าภาคเอกชนของญี่ปุ่น แต่สำหรับภาคเอกชนก็มี อาทิ ฮิตาชิ (Hitachi, Ltd.) ซูรูฮะ (Tsuruha Holdings, Inc.) หนังสือพิมพ์นิเคอิ (Nikkei Inc.) เป็นต้น

ดึงจุดแข็งไทย-ญี่ปุ่น มาเสริมสร้างผลผลิตร่วมกัน นำสู่ระดับโลก

จากการเป็นผู้ประสานงานและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นมามากกว่า 10 ปี คุณกันตธรเผยข้อดีและข้อเสียของทั้งสองประเทศว่า

“สำหรับประเทศญี่ปุ่น ด้วยลักษณะที่ตั้ง ลักษณะทางภูมิประเทศ ภูมิอากาศของประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งประเทศญี่ปุ่นยังพบภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่น แผ่นดินไหวทั้งที่สัมผัสได้และไม่ได้กว่า 6,000 ครั้งต่อปี พายุไต้ฝุ่น และสภาพอากาศแปรปรวนอื่นๆ ดังนั้น การที่ชาวญี่ปุ่นต้องอยู่ท่ามกลางวิกฤติและความเสี่ยงตลอดเวลา จึงสร้างให้ชาวญี่ปุ่นเป็นนักคิด ชอบวางแผน รู้จักแก้ไขปัญหา สามารถป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกัน การที่เขาเป็นคนช่างคิดอย่างเกินพอดี อาจเกิดข้อเสียในเรื่องของกระบวนการทำงานต่างๆ ที่ต้องใช้เวลานานกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ การเป็นนักคิดของเขาก็เป็นการคิดเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงเสียมากกว่า ชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไปจึงถนัดคิดเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหา แต่อาจไม่ถนัดคิดนอกกรอบ หรือคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ดั่งเช่นฝั่งตะวันตก“

“ส่วนข้อดีของประเทศไทย คือเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ พอมีเหลือเฟือ ก็ทำให้เกิดนิสัยของการเป็นคนมีน้ำใจโอบอ้อมอารี แต่ข้อเสียคือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการคิดเพื่อวางแผน คิดไม่ครบวงจร PDCA อย่างรอบคอบ เวลาเกิดปัญหามักต้องการตัวช่วยในการแก้ปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง อีกทั้งยังไม่มีความถนัดในการคิดแก้ปัญหาในแนวดิ่งหรือเชิงลึกเท่าที่ควร”

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งบนโลกย่อมมีข้อดีและข้อเสียหากพูดถึงในแง่ของธุรกิจ คุณกันตธรเผยว่า “เราสามารถเลือกนำข้อดีของแต่ละฝ่ายมาเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางธุรกิจให้ดีขึ้นได้ เช่น นำผลผลิตทางเกษตรกรรมของไทยที่มีสรรพคุณดี มีประโยชน์ แต่ไม่เคยได้นำมาวิจัยเชิงลึก ไม่เคยเอามาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ หากผนวกรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน Biotech อันทันสมัยของญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยสร้างสรรค์ผลผลิตที่ดีมีประสิทธิภาพจะยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และมีโอกาสก้าวสู่ระดับสากลได้”

ด้วยประสบการณ์ บวกกับความเชี่ยวชาญ จนได้ก่อตั้งโครงการ TJRI ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น

“ตลอดระยะเวลาการทำงานในแวดวงไทย-ญี่ปุ่น ผมพบว่าสิ่งที่เป็นปัญหามาโดยตลอดและยังไม่ได้รับการแก้ไขนั่นคือ สิ่งที่คนญี่ปุ่นอยากขายเป็นสิ่งที่คนไทยไม่อยากได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า ทั้งสองมีความต้องการไม่ตรงกัน ดังนั้น ผมจัดตั้งโครงการ TJRI เพื่อมาแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์สิ่งที่ผมอยากช่วยจริงๆ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยเน้นสำรวจความต้องของบริษัทไทยก่อนว่าเขาต้องการอะไร จากนั้นจึงไปเสาะหาบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นธุรกิจรายใหญ่ จะเป็นบริษัท SMEs ก็ได้ หากเขาสามารถแก้ปัญหาในสิ่งที่บริษัทไทยต้องการ ต่อมา ผมจะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์และนำไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจ สร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยตอนนี้ ผมใช้เป็นวิธีการสร้าง Community แบบ B2B ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในรูปแบบการจัดงานสัมมนาออนไลน์ ที่มีทั้งรูปแบบวิทยากรชาวญี่ปุ่น ผู้เข้าฟังเป็นคนไทย และวิทยากรคนไทย ผู้เข้าฟังเป็นชาวญี่ปุ่น ผมริเริ่มทำสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ผมเริ่มสร้างชุมชนเศรษฐกิจผ่านงานสัมมนาออนไลน์ ก็เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รู้ข้อมูลลึกซึ้งของกันและกัน และอยากให้ทั้งสองประเทศไทยรับผลประโยชน์จากกิจกรรมนี้อย่างเท่าเทียมกัน หลังจากนั้นถ้าบริษัทไทยและบริษัทญี่ปุ่นจะมีการตกลงทำโปรเจกต์ร่วมกันในอนาคต ก็ถือว่าผมได้บรรลุเป้าหมายในการจัดกิจกรรมนี้”

หลังจากก่อตั้งโครงการ TJRI พบการมองเห็นโอกาสที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

“หลังจากที่ผมได้บอกไปถึงรูปแบบการสร้างชุมชนเศรษฐกิจผ่านรูปแบบงานสัมมนาออนไลน์ที่ทำให้ทั้งไทย-ญี่ปุ่นได้มาศึกษาข้อมูลเชิงธุรกิจอันลึกซึ้งพร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองกันและกัน ผลลัพธ์ที่ได้จากการฟีดแบคทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นต่างปลาบปลื้มและเข้าใจบริบทมุมมองของสองประเทศมากยิ่งขึ้น อันที่จริงผมไม่ได้ทำอะไรที่มันยากเลยครับ ผมแค่ทำในสิ่งที่ผมเชี่ยวชาญและรู้จริง โดยการนำ Demand กับ Supply มาเจอกันอย่างที่มันควรจะเป็นเท่านั้นเอง ฝั่งผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสที่จะได้คุยกับญี่ปุ่นเจ้าใหญ่ๆ ทันที 10-20 เจ้า ส่วนฝั่งญี่ปุ่นก็ตื่นตาตื่นใจกับข้อมูลที่ทำให้เขาได้รับข่าวสารของประเทศไทยอย่างเชิงลึกมากขึ้น แม้ว่าโครงการ TJRI จะเพิ่งริเริ่มได้ไม่นาน แต่นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่รู้ว่าโครงการนี้สามารถบรรลุเป้าหมายไปได้อีกระดับ”



ดึงจุดเด่นและศักยภาพเรามีที่มี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจที่จะมาลงทุนในไทยอีกครั้ง

คุณกันตธรให้ข้อมูลว่า “เราต่างทราบดีถึงข่าวที่ญี่ปุ่นเริ่มหันไปสนใจลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งก่อนการลงทุนในประเทศใดก็ตาม นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เขาชอบศึกษาดูตัวเลข GDP เฉลี่ยต่อจำนวนประชากรว่ากี่พันเหรียญ ดูอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจว่ามีการเติบโตกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี ค่าแรงขั้นต่ำ และอาจดูอายุเฉลี่ยประชากร ฯลฯ แน่นอนว่าถ้าดูสถิติตัวเลขแบบนี้ ประเทศไทยแพ้เวียดนามแน่นอน เพราะอายุเฉลี่ยของประชากรและจำนวนประชากรเราด้อยกว่าเวียดนาม นี่เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับความจริงว่ามันเป็นจุดอ่อนที่เราไม่ควรเข้าไปแข่งในสนามนี้ สิ่งที่เราควรแข่งคือ การดึงจุดเด่นหรือศักยภาพที่มีเพื่อสร้างข้อได้เปรียบ โดยการหาเวทีใหม่ที่สามารถนำพาประเทศไทยให้ไปได้ไกลและนานกว่านั้นนั่นคือ เกษตรกรรม อาหารแปรรูป อาหารเสริมและยา เป็นต้น”

จากนี้ โครงการ TJRI จะพยายามเน้นหนักไปที่อุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากเกษตรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ BCG Model และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น หรือ Green Growth Strategy ของประเทศญี่ปุ่น โดยจะเน้นอุตสาหกรรมอาหาร ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) หรือ บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องของการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นนำธุรกิจไปสู่ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อสอดรับกับทั่วโลกที่หันมาให้ความสนใจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งหวังเป็นพลังแห่งความร่วมมือในการช่วยกันพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืน

เป้าหมายคือการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นให้ไปข้างหน้าร่วมกันได้

“ผมอยากเห็นสิ่งที่ได้ลงมือทำในวันนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น มีบริษัทไทยและญี่ปุ่นเกิดการลงนามความร่วมมือกันจริงของทั้งสองประเทศ หากตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี ผมอยากสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นได้หารือกันจริงจัง เพื่อหาหนทางสร้างความร่วมมือให้บรรลุผลสำเร็จมากกว่า 100 เคส ความจริงแล้วผมเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ตัวหนึ่งที่ผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นให้ไปข้างหน้าร่วมกันได้ ผมมุ่งหวังที่จะผลักดันให้โครงการนี้ไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม ถูกที่ถูกทาง อีกทั้งผมยังต้องการสร้างภาพจำให้คนไทยและคนญี่ปุ่นว่า หากต้องการตัวกลางในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ต้องนึกถึงโครงการ TJRI ที่รู้ลึก รู้จริงเรื่องธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น พร้อมเป็นส่วนหนึ่งให้สองประเทศสามารถเจรจาผลประโยชน์กันได้อย่างลงตัว”

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร