เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับคาเฟ่และร้านขนมแบรนด์ดัง จัดแคมเปญ Fruitful Japan สร้างสรรค์ขนมและเครืื่องดื่มจากผลไม้ญี่ปุ่น - mediator

Blog เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับคาเฟ่และร้านขนมแบรนด์ดัง จัดแคมเปญ Fruitful Japan สร้างสรรค์ขนมและเครืื่องดื่มจากผลไม้ญี่ปุ่น

02.03.2021

food industry
เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับคาเฟ่และร้านขนมแบรนด์ดัง จัดแคมเปญ Fruitful Japan สร้างสรรค์ขนมและเครืื่องดื่มจากผลไม้ญี่ปุ่นのメイン画像

mediator ได้รับมอบหมายให้เป็นบริษัทตัวแทนดำเนินงานโครงการนี้

เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับคาเฟ่และร้านขนมแบรนด์ดัง จัดแคมเปญ Fruitful Japan ประชาสัมพันธ์เสน่ห์ผลไม้ญี่ปุ่นในประเทศไทย ผสานวัตถุดิบท้องถิ่นเข้ากับเสน่ห์ของผลไม้ญี่ปุ่น เพื่อสร้างความประทับใจใหม่ๆ ให้คลายความคิดถึงประเทศญี่ปุ่น

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) จัดแคมเปญ Fruitful Japan โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เสน่ห์ของผลไม้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเพื่อขยายตลาดผู้บริโภคผลไม้ญี่ปุ่นในประเทศไทย

โดยร้านคาเฟ่และร้านขนมแบรนด์ดังจำนวน 8 แบรนด์ ที่ร่วมสร้างสรรค์เมนูใหม่โดยใช้ผลไม้สดและวัตถุดิบแปรรูปจากผลไม้ญี่ปุ่นได้ทำการจัดจำหน่าย (บางร้านกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมจำหน่าย) ให้ผู้บริโภคไทยได้มีโอกาสสัมผัสความอร่อยในครั้งนี้ได้แก่ ร้าน Ampersand Gelato ร้าน Guss Damn Good ร้าน HEARTBAKER ร้าน Kyo Roll En ร้าน Lemoncurd Bread and Coffee ร้าน Little Baker ร้าน TEA 101 และร้าน The Confiture

วัตถุดิบที่ทางเจโทร กรุงเทพฯ ได้แนะนำในการคิดค้นเมนูใหม่ครั้งนี้ เป็นผลไม้สดและวัตถุดิบแปรรูปจากผลไม้ที่เป็นเสมือนตัวแทนของฤดูหนาวในประเทศญี่ปุ่น เช่น สตรอว์เบอร์รี พันธุ์ “Tochiotome” จากจังหวัดโทชิงิ, แอปเปิ้ล “Sun Fuji” จากจังหวัดอาโอโมริ, สตรอว์เบอร์รี “Amaou” จากจังหวัดฟุกุโอกะ, Yaki Imo หรือมันเผาที่ใช้มันหวานพันธุ์ “Beni Haruka” จากจังหวัดมิยาซากิ, ส้ม “Yuzu” จากจังหวัดโคจิ และแอปเปิ้ล “Fuji” จากภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่ง 8 ร้านดังที่ได้เข้าร่วมแคมเปญนี้ ได้รังสรรค์เมนูใหม่สูตรพิเศษเฉพาะของแต่ละร้าน รวมกันกว่า 20 เมนู โดยยังคงเอกลักษณ์และกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นอยู่ครบถ้วน

Kyo Roll En และ Guss Damn Good 2 แบรนด์ดังร่วมเชิญชวนให้ผู้บริโภคไทยลิ้มลองความอร่อยของเมนูใหม่ ที่รังสรรค์จากผลไม้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น

คุณเดช คิ้วคชา เชฟเจ้าของร้าน Kyo Roll En กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมาร่วมโครงการ Fruitful Japan เพราะ Kyo Roll En เป็นแบรนด์ญี่ปุ่นในไทยที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่นมาโดยตลอด ในครั้งนี้ผมดีใจมากที่มีโอกาสใช้วัตถุดิบขึ้นชื่ออย่าง ‘ยูซุ’ ที่ส่งตรงจากเมืองโคจิ เพราะเมื่อหลายปีก่อน ผมได้มีโอกาสไปที่สวนยูซุที่เมืองโคจิ และประทับใจกับสวนยูซุมาก จึงได้จัดทำ Seasonal Menu ครั้งใหญ่ เสน่ห์ของยูซุอยู่ที่กลิ่นหอมของผิว ผมจึงมองว่าน่าเข้ากันได้ดีกับผลไม้ที่เน้นทานเนื้อแบบฉ่ำๆ พอดีช่วงนี้เป็นฤดูกาลของมะยงชิด จึงคิดเมนูที่ผสานกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่นออกมา ไฮไลท์เมนูคือ โรลเค้กครีมยูซุ รสหวานอมเปรี้ยว สอดไส้ด้วยมะยงชิดสดเต็มๆ ลูก และมีเครื่องดื่มแบบสมูทตี้ที่พิเศษสุดๆ ที่ผสมความหอมมันของชีส เข้ากันได้ดีกับยูซุมากๆ รวมถึงสินค้าใหม่อย่าง [Nama Chocolate] ช็อกโกแลตสด ที่ผมนำมาผสมกับยูซุ หวังว่า ลูกค้าของ Kyo Roll En จะหลงใหลในเสน่ห์ของ ‘ยูซุ’ จากโคจิครับ”

คุณระริน ธรรมวัฒนะ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์คราฟไอศครีม Guss Damn Good กล่าวว่า “ไอศครีมของร้านเกือบทุกรสจะคิดจากหลักการ Story to Flavor เราจะเริ่มต้นจากเรื่องราวดีดีรอบตัว จากนั้นเอาเรื่องราวมาแปลงต่อเป็นความรู้สึกและพัฒนาเป็นรสชาติไอศครีมในที่สุด แต่จะมีบ้างที่เราเริ่มคิดรสชาติจากส่วนผสมที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นจนอยากเอามาทำเป็นไอศครีมให้แฟนๆของกัสได้กิน อย่างตอนไปเที่ยวอิตาลีตอนใต้และได้ชิมน้ำมันมะกอกตัวนึง เราชอบถึงขั้นต้องหิ้วกลับมาทำไอศครีมแบบพิเศษให้ลูกค้าของกัสได้มีประสบการณ์เดียวกันกับเรา

ครั้งนี้ก็เช่นกัน เราได้รับการติดต่อจาก JETRO ในการแนะนำวัตถุดิบมันหวานเผา Yaki Imo จากจังหวัดมิยาซากิ ซึ่งพอได้ชิมแล้ว ทั้งความหวานพิเศษที่ซ่อนความ smoke ไว้ปลายๆ ทั้ง texture ที่เนียนนุ่ม และ creamy มากๆ เรารู้เลยว่าถ้าตอนนี้อยู่ญี่ปุ่น คงต้องหาทางหิ้วกลับมาทำเป็นไอศครีมแบบพิเศษให้ลูกค้าของกัสได้ชิม

ตัวไอศครีมรสนี้ “Honey Yaki Imo” เราตั้งใจชูความเป็นมันหวานเผานี้ให้ได้มากที่สุด เราใส่มันหวานเข้าไปเยอะมาก เวลากินจะรู้สึกถึงเนื้อของมันหวานที่บดละเอียดผสมอยู่ข้างในไอศครีมสีเหลืองอ่อนที่หอมหวานเนียนนุ่ม ตักไปเรื่อยๆจะเจอชิ้นมันหวานที่เราเอาไปปรุงเนยสด ปิ้งบนกระทะ และจบท้ายด้วยการนำไปอบ ออกมาเป็น mix-in มันหวานที่หอมนุ่ม หนึบนิดๆ พอกินรวมกันคือเหมือนได้กินมันหวานเวอร์ชั่นเย็นๆ เนียนนุ่ม creamy หนึบๆ เป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่พวกเราชอบและประทับใจมาก

เราทำรส Honey Yaki Imo ออกมาทั้งแบบสกู้ป และแบบถ้วย take-home ทำเป็นแบบพิเศษที่มีวางแค่ช่วงนี้เท่านั้น ยังไงอยากชวนทุกคนมาชิมไอศครีมรสนี้กันที่ร้าน Guss Damn Good ได้ทั้ง 9 สาขา หวังว่าจะชอบกันนะคะ”

นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองมาตรการเฝ้าระวังผักและผลไม้ที่อาจมีสารพิษตกค้างทางการเกษตรของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงคำนึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เจโทร กรุงเทพฯ จึงร่วมมือกับบริษัทนำเข้าส่งออกสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างและได้รับหนังสือรับรองระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสด/ผลไม้สด มาประกอบการนำเข้าผลไม้สดจากแหล่งเพาะปลูกกว่า 20 จังหวัดในประเทศญี่ปุ่น เช่น จังหวัดอาโอโมริ จังหวัดอิบารากิ จังหวัดโทชิงิ จังหวัดโคจิ มายังประเทศไทยอย่างถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนด

เจโทร กรุงเทพฯ มุ่งหวังให้ผู้บริโภคไทยได้มีโอกาสสัมผัสเสน่ห์ของผลไม้ญี่ปุ่นในหลายรูปแบบ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆมากกว่า 10 ช่องทาง ทั้งยังมั่นใจว่าด้วยการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกฝ่าย จะสามารถช่วยกระตุ้นและถ่ายทอดเสน่ห์ของผลไม้ญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนใช้โอกาสนี้ร่วมกันคิดถึงญี่ปุ่น และมีความสุขไปกับรสชาติที่แท้จริงของผลไม้ญี่ปุ่นไปด้วยกัน

สามารถติดตามรายละเอียดเมนูของร้านที่เข้าร่วมแคมเปญและช่วงเวลาจัดจำหน่าย ได้จาก Facebook และ Instagram ของแต่ละร้าน ซึ่งเมนูไฮไลท์ที่อยากแนะนำมีดังนี้

เมนูที่สร้างสรรค์จากผลไม้สดและวัตถุดิบแปรรูปจากผลไม้ญี่ปุ่น

| Ampersand Gelato
เมนูไอศครีมซอร์เบต์ “Apple Sun Fuji Sorbet”
ใช้แอปเปิ้ลซันฟูจิ จากจังหวัดอาโอโมริ (จำหน่ายถึงวันที่ 30 เมษายน 2564)

| Guss Damn Good
เมนูไอศรีม “Honey Yaki Imo”
ใช้ Yaki Imo หรือมันเผาที่ใช้มันหวานพันธุ์ “Beni Haruka” จากจังหวัดมิยาซากิ (เริ่มจำหน่ายวันที่ 6 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564)

| HEARTBAKER
เมนูคัพเค้ก “Amaou Strawberry Cupcake with white chocolate”
ใช้แยมสตรอว์เบอร์รี Amaou จากจังหวัดฟุกุโอกะ (จำหน่ายถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564)

| Kyo Roll En
เมนูโรลเค้กครีมยูซุ “Yuzu Marian Plum Roll”
ใช้ส้มยูซุจากจังหวัดโคจิและมะยงชิดของไทยมาผสานกันอย่างลงตัว (จำหน่ายถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564)

| Lemoncurd Bread and Coffee
เมนู Pastry “Caramel Fuji Apple Roll”
ใช้ซอส Apple Caramel จากแอปเปิ้ลฟูจิ ของภูมิภาคโทโฮคุ (จำหน่ายถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564)

| Little Baker
เมนูคัพเค้ก “Amaou Strawberry-Vanilla Cupcake”
ใช้แยมสตรอว์เบอร์รี Amaou จากจังหวัดฟุกุโอกะ (จำหน่ายถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2564)

| TEA 101
เมนูเค้ก “Caramel Apple Crumb Cake”
ใช้ซอส Apple Caramel จากแอปเปิ้ลฟูจิ ของภูมิภาคโทโฮคุ (จำหน่ายถึงวันที่ 10 มีนาคม 2564)

| The Confiture
เมนูแยมสตรอว์เบอร์รีสด “Tochiotome Confiture”
ใช้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ Tochiotome จากจังหวัดโทชิงิ (จำหน่ายถึงวันที่ 8 มีนาคม 2564)

การตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง

| สตรอว์เบอร์รี
แหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่ส่งตรวจสารพิษตกค้าง: 18 แห่ง (จังหวัดอิบารากิ, โทชิงิ, กิฟุ, นาระ, โทคุชิมะ และคุมาโมโตะ)
ระยะเวลาการตรวจสอบ: เดือนธันวาคม 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564
หน่วยงานที่ตรวจสอบ: หน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย (หน่วยงานที่ลงทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการประเทศญี่ปุ่นตามมาตราการสุขอนามัยของอาหาร หรือ หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันเอกชนที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการด้านการตรวจสอบสารพิษตกค้าง ISO/IEC 17025 จากหน่วยตรวจสอบและรับรองด้านห้องปฏิบัติการด้วยการใช้มาตรฐานระดับชาติและระดับนานาชาติ (ILAC))
สารพิษตกต้างที่ตรวจสอบ: คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) / ไกลโฟเซต (glyphosate) / เมโทมิล (methomyl) / พาราควอต (paraquat) / โพรพาร์ไกต์(propargite) / ไพริเมทานิล (Pyrimethanil) / (บางแห่งส่งตรวจสอบเพียงเมโทมิลและพาราควอตเท่านั้น โดยพิจารณาจากการใช้ เป็นต้น)
ผลการตรวจ: ไม่พบสารตกค้าง (ND)

| มันหวานญี่ปุ่น
แหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่ส่งตรวจสารพิษตกค้าง: 1 แห่ง (จังหวัดชิบะ)
ระยะเวลาการตรวจสอบ: เดือนมกราคม 2564 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564
หน่วยงานที่ตรวจสอบ: หน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย (หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันเอกชนที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการด้านการตรวจสอบสารพิษตกค้าง ISO/IEC 17025 จากหน่วยตรวจสอบและรับรองด้านห้องปฏิบัติการด้วยการใช้มาตรฐานระดับชาติและระดับนานาชาติ (ILAC))
สารพิษตกต้างที่ตรวจสอบ: สารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 134 สารตามที่รัฐบาลไทยกำหนด
ผลการตรวจ: ไม่พบสารตกค้าง (ND)

| แอปเปิ้ล
แหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่ส่งตรวจสารพิษตกค้าง: 1 แห่ง (จังหวัดอาโอโมริ)
ระยะเวลาการตรวจสอบ: เดือนมกราคม 2564 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564
หน่วยงานที่ตรวจสอบ: หน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทย (หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันเอกชนที่ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการด้านการตรวจสอบสารพิษตกค้าง ISO/IEC 17025 จากหน่วยตรวจสอบและรับรองด้านห้องปฏิบัติการด้วยการใช้มาตรฐานระดับชาติและระดับนานาชาติ (ILAC))
สารพิษตกต้างที่ตรวจสอบ: สารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 134 สารตามที่รัฐบาลไทยกำหนด
ผลการตรวจ: ไม่พบสารตกค้าง (ND) หรือมีปริมาณสารตกค้างน้อยกว่ากำหนด

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร