รายงานสัมมนาออนไลน์ “ความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชนระหว่างไทยและญี่ปุ่นผลักดันธุรกิจ เพื่อความยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัล” - mediator

Blog รายงานสัมมนาออนไลน์ “ความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชนระหว่างไทยและญี่ปุ่นผลักดันธุรกิจ
เพื่อความยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัล”

06.05.2022

event
รายงานสัมมนาออนไลน์ “ความร่วมมือภาครัฐภาคเอกชนระหว่างไทยและญี่ปุ่นผลักดันธุรกิจ<br> เพื่อความยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัล”のメイン画像

โดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงาน EEC ของไทย

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “แนวทางความร่วมมืออย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป่าหมายคาร์บอนนิวทรัล” บริษัทเมดิเอเตอร์ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดสัมมนาในครั้งนี้

เจโทร กรุงเทพฯ และ สกพอ.ได้ลงนามแสดงเจตจํานง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2565 ในการขยายความร่วมมือและสนับสนุนให้มีการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่น เพื่อนําไปสู่การลงทุนในพื้นที่เขตพิเศษภาคตะวันออกในอนาคต โดยเฉพาะในด้านการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) การจัดสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นการแนะนำกลไกความร่วมมือดังกล่าว

งานสัมมนามีผู้เข้าร่วมฟังมากกว่า 800 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนนึงจะเป็นธุรกิจที่ได้วางเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัลไว้ด้วยแล้ว เราจึงขอรายงานตัวอย่างขององค์กรหรือธุรกิจที่สร้างกลไกในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัลและได้รับเชิญมาพูดในงานสัมมนาในครั้งนี้

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco-Industrial Estate)

สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย คงคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในไทย โดย นางบุปผา กวินวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ (สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน) เป็นผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลความพยายามในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ และแนวทางในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอนาคต

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศเยอรมนีในการเป็นพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” มาตั้งแต่ปี 2542 และดำเนินการพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศโดยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันให้โรงงานยกระดับเป็น “โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory)” และในปี 2562 ได้มีการดำเนินโครงการพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 และโรงงาน 4.0 (Smart Eco 4.0)” และ “การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency)” เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยได้กำหนดแผนการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะ 5 ปี (2564-2568) พร้อมทั้งกำหนดนโยบายสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์พลังงาน นำพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนมาใช้ รวมถึงส่งเสริมการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ของรัฐบาล

สำหรับในพื้นที่ EEC ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค (Smart Park) เพื่อดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมในกลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำ ที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และในอนาคต การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็มีนโยบายที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาและผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ และมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ต่อไป

แฟลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการบริหารการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO

นายปฐม ชัยพฤกษทล ผู้จัดการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรมของ TGO ได้แนะนำกลไกในการบริหารการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยและสภาพตลาดของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2557 ทาง TGO ได้ออกโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)
รวมทั้งได้แนะนำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกเครดิตร่วมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
(Joint Crediting Mechanism: JCM) ด้วย
ในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทย ปริมาณการซื้อขายในแต่ละปีมีการขยายตัวมากขึ้น ราคาซื้อขายก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะขึ้นอยู่กับประเภทของโปรเจค ปัจจุบันประเภทของโปรเจคที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสูง คือ ชีวมวล ไฟฟ้าพลังงานน้ำ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซชีวภาพ ตามลำดับ ปัจจุบัน TGO ได้ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อขายคาร์บอนเเครดิต เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากศและการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายของตนต่อไปในอนาคต

PTT Global Chemical กับเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกใบนี้

สององค์กรก่อนหน้านี้เป็นองค์กรภาครัฐ ถัดจากนี้ขอนำเสนอองค์กรภาคเอกชนกับความพยายามในการบรรลุเป้าหมาย
คาร์บอนนิวทรัล ดร. ภัทรพร ศรีเดชประสาท ผู้จัดการแผนกเศรษฐกิจหมุนเวียน 2 ของ PTT Global Chemical PLC หรือ GC
ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศไทย ได้แนะนำกรอบหลักๆ 3 กรอบเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในบริษัท ได้แก่ “Smart Operating” การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งห่วงโซ่คุณค่า “Responsible Caring” การผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ “Loop Connecting” เชื่อมต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งห่วงโซ่คุณค่า ภายใต้กรอบการดำเนินงานเหล่านี้ GC ได้ตั้งเป้าที่จะทำ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2593 โดยวางงบประมาณเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และงบประมาณการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจไว้ที่ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดร. ภัทรพรยังระบุว่าโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ เพียงแต่จะต้องเริ่มที่ “รู้และเข้าใจตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด” ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบ ตลาดของสินค้าและบริการของเรา นำ “เทคโนโลยีและนวัตกรรม”เข้ามาช่วย และต้อง “มีนโยบายที่ชัดเจนและให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม”

ความพยายามในการทำให้เกิดสังคมคาร์บอนนิวทรัลของกลุ่มบริษัท Mitsubishi Heavy Industries (MHI)

Mr. TAKUBO Ryo ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท Mitsubishi Heavy Industries (Thailand) Ltd. ได้ให้ข้อมูลว่า ตามแผนปฏิบัติการปี 2564 หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของบริษัทคือ “Energy Transition” ที่มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตพลังงานในปัจจุบันให้มาเป็นแบบที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำลง เช่น การทดลองนำไฮโดรเจนและแอมโมเนียมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งพลังงานแบบไม่ปล่อยคาร์บอน (carbon-free energy) จนกระทั่งการพัฒนาให้สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ชนิดที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (Light Water Reactor: LWR) และใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor: SMR) ให้สามารถทำในเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน สำหรับแผนในระยะกลาง MHI ตั้งเป้าที่จะสร้างระบบนิเวศไฮโดรเจนและระบบนิเวศ CO2 ให้เกิดขึ้นจริง โดยสำหรับระบบนิเวศ CO2 การพัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับ การขนส่ง การกักเก็บ ไปจนถึงการแปลง CO2 ไปใช้ประโยชน์นั้นเป็นสิ่งสำคัญ MHI ได้สร้างระบบดักจับ CO2 ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในโรงไฟฟ้าที่สหรัฐอเมริกา จึงได้รับการยอมรับจากวงการอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งทาง MHI ก็กำลังพยายามที่จะนำระบบดังกล่าวไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆนอกเหนือจากโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ CO2 ที่กักเก็บไว้แล้วนำมาแปลงไปใช้ประโยชน์ได้ต่อนั้น ทาง MHI ได้ร่วมกับ IBM ในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถเห็นการไหลเวียนของ CO2 ได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบ CCUS ที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของ CO2 ทั้งระบบ Mr. Takubo ได้พูดถึงการที่กลุ่ม MHI ได้กล่าวไว้ว่าต้องการจะบรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัลภายในปี 2583 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วนั้นหมายถึงว่า กลุ่ม MHI ต้องการจะเป็นผู้นำของธุรกิจการลดคาร์บอน ต้องการแสดงความรับผิดชอบที่จะต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงทุ่มเทความพยายามที่จะผลิตเทคโนโลยี สินค้าและบริการต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว และเชื่อมั่นในความพยายามของทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นในความร่วมมือที่จะพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของทางฝั่งไทยและแผนยุทธศาสตร์ “Green Growth Strategy”ของฝั่งญี่ปุ่น กลุ่ม MHI พร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับบริษัทไทยเพื่อให้เกิด “Energy Transition” และให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัลในอนาคต

บริษัท TBM กับเทคโนโลยีการผลิตวัสดุทดแทนพลาสติกและกระดาษ

บริษัทสุดท้ายที่เป็นตัวอย่างในความพยายามในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากรฟอสซิลที่มีอยู่อย่างจำกัด คือ บริษัท TBM Co., Ltd. ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 Mr. NAKAMURA Tomoya หัวหน้าแผนก Global Alliance ให้ข้อมูลว่าบริษัทได้คิดคันและพัฒนาวัสดุที่ใช้ชื่อว่า LIMEX และ CirculeX LIMEX เป็นวัสดุที่ใช้ทดแทนพลาสติกและกระดาษโดยผลิตจากหินปูน (lime stone) เป็นหลัก หินปูนเป็นวัตถุดิบที่หาได้ทั่วไปในโลก จึงไม่มีปัญหาการขาดแคลนในอนาคต สามารถผลิตและใช้ได้ในแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องขนส่งในระยะไกล และมีราคาถูก จึงตอบโจทย์ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและการแข่งขันในเรื่องของราคา เมื่อเทียบกันแล้ว การผลิตหินปูนปล่อย CO2 เพียงแค่ 1 ใน 50 ของการผลิตเม็ดพลาสติกจากทรัพยากรฟอสซิลหรือน้ำมันเท่านั้น ส่วนการกำจัดด้วยการเผา การเผาหินปูนก็ปล่อย CO2 เพียงแค่ 58% เมื่อเทียบกับการเผาเม็ดพลาสติกจากฟอสซิล แล้วเมื่อนำมาผลิตเป็นกระดาษ ก็จะสามารถลดการใช้น้ำลงไปมาก เนื่องจากไม่ต้องใช้น้ำในการปลูกต้นไม้ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษแบบปกติ

ปัจจุบันมีการนำ LIMEX ไปใช้ทดแทนเม็ดพลาสติกในการผลิตถุง กระดาษห่อของ ถาดบรรจุอาหารแบบใช้แล้วทิ้ง เฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ในบ้าน และใช้ทดแทนกระดาษในการผลิตเมนูอาหาร โปสเตอร์ และแท็คสินค้า เป็นต้น Mr. Nakamura ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า มีการใช้ LIMEX ในการทำ Upcycling ด้วย เนื่องจาก LIMEX สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% จึงสามารถนำกลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ๆได้ แต่เท่านี้ยังไม่พอ ทางบริษัทกำลังก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขึ้นที่เมือง Yokosuka ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ก่อนปลายปี 2565 ซึ่งที่โรงงานนี้ ไม่ใช่แค่ LIMEX เท่านั้น แต่วัสดุอื่นๆที่ถูกใช้ร่วมกับ LIMEX ก็ถูกรวบรวมมาคัดแยกและรีไซเคิลที่นี่ ซึ่งมีกำลังการคัดแยกประมาณ 40,000 ตันต่อปี และมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกจากวัสดุรีไซเคิล (recycled pellet) ประมาณ 24,000 ตันต่อปี ทางบริษัทไม่ได้แค่คิดค้นและพัฒนา LIMEX เท่านั้น แต่ยังพยายามพัฒนาวัสดุใหม่จากเศษขยะพลาสติกอีกด้วย ซึ่งทางบริษัทใช้ชื่อวัสดุนี้ว่า CirculeX ปัจจุบันได้ถูกใช้ในการผลิตถุงขยะ แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตจะมีการพัฒนาเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่นๆต่อไป บริษัท TBM มีแผนจะนำ LIMEX และ CirculeX ไปใช้ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของ LIMEX หรือเศษขยะพลาสติก 1 ล้านตัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (Carbon Negative) ภายในปี 2573 ผ่านโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยการผลิต ใช้ และทำ upcycling ภายในพื้นที่นั้นๆ ตั้งเป้าเป็นผู้นำในธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของโลกในอนาคต

รายละเอียดงานสัมมนา
ชื่องาน Thailand – Japan Sustainable Business Online Seminar for Carbon Neutrality งานสัมมนานำเสนอแนวทางความร่วมมืออย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัล
วันจัดสัมมนา วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
กำหนดการ
1.กล่าวเปิดงาน โดย
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
Mr. TAKETANI Atsushi ประธานองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ หรือ เจโทร กรุงเทพฯ
2.คำปราศรัยหัวข้อ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ตัวขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย โดย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. หรือ NSTDA)
กำกับและดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
3.บรรยายเรื่อง ทิศทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดย Mr. KATO Takeo รองประธาน และประธานคณะกรรมการธุรกิจ BCG, หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC)
4.การนำเสนอตัวอย่างความพยายามของภาครัฐและภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่นในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนนิวทรัล
4.1 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) กับแนวทางการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว (Smart and Green Industrial Estate)
นางบุปผา กวินวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ดูแลด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน)
4.2 แฟลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการบริหารการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO
นายปฐม ชัยพฤกษทล ผู้จัดการสำนักส่งเสริมตลาดคาร์บอนและนวัตกรรม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
4.3 PTT Global Chemical กับเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกใบนี้
ดร. ภัทรพร ศรีเดชประสาท ผู้จัดการแผนกเศรษฐกิจหมุนเวียน 2 ของ PTT Global Chemical PCL.
4.4 ความพยายามในการทำให้เกิดสังคมคาร์บอนนิวทรัลของกลุ่มบริษัท Mitsubishi Heavy Industries (MHI)
Mr. TAKUBO Ryo ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท Mitsubishi Heavy Industries (Thailand) Ltd.
4.5 บริษัท TBM กับเทคโนโลยีการผลิตวัสดุทดแทนพลาสติกและกระดาษ
Mr. NAKAMURA Tomoya หัวหน้าแผนก Global Alliance บริษัท TBM Co., Ltd.
5.กล่าวปิดงาน โดย Mr. TAKETANI Atsushi รองประธานเจโทร กรุงเทพฯ
ผู้จัดสัมมนา
องค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ประจำกรุงเทพฯ หรือ เจโทร กรุงเทพฯ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
สนับสนุนโดย
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. หรือ NSTDA)
หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC)
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT)
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานสัมมนา คลิกที่นี่

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร