มีวันนี้ได้เพราะ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ได้รับต่อมาจากพ่อและ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ผมจะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป - mediator

Blog มีวันนี้ได้เพราะ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ได้รับต่อมาจากพ่อและ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ผมจะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป

05.06.2019

mediator
มีวันนี้ได้เพราะ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ได้รับต่อมาจากพ่อและ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ผมจะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปのメイン画像

เล่าเรื่อง ‘ญี่ปุ่น’ ที่ผมได้รับมาจากพ่อ และ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ผมจะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป

ผมเป็นคนไทยชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีโอกาสดีกว่าคนอื่นๆ จากการได้ติดตามพ่อไปอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นตอนเด็กๆ (พ่อผมถูกส่งไปประจำที่สำนักงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่ประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น) จากนั้นมีโอกาสได้ไปเรียนต่อและทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 18 ปี กลับมาเมืองไทยหลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น 10 ปี สิ่งที่ติดตัวมาด้วยคือภาษาญี่ปุ่นและความรู้เกี่ยวกับการทำงานกับคนญี่ปุ่น พอให้ตัวเองได้มีโอกาสทดลองทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ เลยได้จดทะเบียนบริษัทที่ชื่อ mediator ที่แปลว่า “คนกลาง” ขึ้น โดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานกับภาคเอกชนใดๆ และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำธุรกิจอะไร

ผมทำเรื่องขอจดทะเบียนบริษัทในวันที่ 5 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2009 โดยที่ไม่ต้องดูฤกษ์ดูยามแต่อย่างใด ตอนนั้นผมอายุ 29 ปี แทบไม่มีคนรู้จักอยู่ที่เมืองไทยเลย มีแค่เพื่อนที่โรงเรียนสาธิตเกษตร ซึ่งตอนนั้นทุกคนก็ทำงานกันหมดแล้ว กับผู้ใหญ่บางท่านในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมที่เคยให้ความเอ็นดูและจำผมได้ เนื่องจากผมเคยทำงานอยู่ในสำนักงานที่ปรึกษาอุตสาหกรรม สถานทูตไทย ที่กรุงโตเกียวเกือบ 5 ปี คนที่จะรู้จักผมดีส่วนใหญ่จะเป็นลุง ๆ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นที่ผมเคยรู้จักตอนทำงาน แต่คนญี่ปุ่นเหล่านี้แหละ ที่ตอนหลังเป็นคนที่ช่วยแนะนำงานและส่งงานต่างๆ มาให้ผมทำ หลังจากที่เริ่มรู้กันว่าผมได้ย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว

ผมเริ่มชีวิตการทำงานที่เมืองไทย ด้วยการเป็นล่ามฟรีแลนซ์รายวัน และช่วยประสานงานให้กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (Japanese Desk) ขึ้นภายในกรมฯ หลังจากนั้นผมก็ได้รับโอกาสในการทำงานเป็นผู้ช่วยประสานงานโครงการของภาครัฐญี่ปุ่นหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น JETRO, JICA, SMRJ, สำนักงานจังหวัด Fukuoka จากที่ผมเคยรับงานแค่คนเดียว วันหนึ่งผมก็กลายเป็นคนส่งต่องานให้คนอื่นๆ จนวันนี้ 10 ปีผ่านไป ผมกลายเป็นคนที่ร่วมสร้างโครงการต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ของภาครัฐญี่ปุ่น บริษัทที่ผมจดทะเบียนไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีพนักงานกว่า 40 คนและมียอดขายหลัก (หลาย) สิบล้านบาทต่อปี

ถ้าเมื่อ 10 ปีที่แล้วตอนที่ผมกลับมาเมืองไทย ผมเลือกไปทำงานในบริษัทเอกชนญี่ปุ่นใหญ่ๆ สักที่ ชีวิตผมก็คงดำเนินไปได้อย่างไม่ต้องกระเสือกกระสนมากนัก ไม่ต้องกังวลเรื่องยอดขาย เรื่องคนในองค์กร หรือต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ แบบวันนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผมมักจะคิดทบทวนกับตัวเองอยู่เสมอว่า อะไรเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผมต้องทำงานที่ผมกำลังทำอยู่นี้ให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ และเมื่อผมยิ่งทำ ผมก็ค่อยๆ มีคำตอบให้กับตัวเองชัดเจนมากขึ้น จนผมค่อนข้างมั่นใจมากๆว่า แรงผลักดันที่มีอิทธิพลนั้นก็คือ ครอบครัวของผมเอง ซึ่งก็คือพ่อและแม่ที่ให้การสนับสนุนเลี้ยงดูผมมาโดยตลอด

‘คนตัวเล็ก’ ที่ชีวิตได้ลืมตาอ้าปากจากการทำงานกับญี่ปุ่น

แม่ผมมักเล่าให้ฟังเสมอว่า เมื่อสมัยพ่อแม่เด็กๆ รู้จักกันเพราะอาศัยอยู่บ้านใกล้ๆ กัน ทั้งสองบ้านฐานะยากจน ไม่มีเงินขนาดที่พ่อผมต้องไปช้อนลูกน้ำขายหารายได้พิเศษด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก ผมกับน้องชายโชคดีมากที่เกิดมาตอนที่ทั้งสองคนเริ่มมีอันจะกิน มีรายได้ประจำ กลายเป็นคนชนชั้นกลางแล้ว ซึ่งจากที่ผมศึกษาเรื่องราวต่าง ๆเกี่ยวกับการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย ทำให้ผมรู้ว่า การที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อ 50-60 ปีที่แล้วนี่แหละ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้พ่อของผมที่ทำงานเป็นแค่เจ้าหน้าที่ธนาคารธรรมดา ๆคนหนึ่ง ได้ลืมตาอ้าปากเติบโตในหน้าที่การงาน ทำให้พอมีเงินตั้งต้นสามารถส่งผมกับน้องชายไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นได้ และในท้ายที่สุด ได้เกษียณในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์

ถ้าใครได้เคยลองศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศไทยในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะทราบว่าตอนนั้น สหรัฐอเมริกาและธนาคารโลกได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายรัฐของประเทศไทย ทำให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุน คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) และแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดเสมอมาก็คือประเทศญี่ปุ่นอย่างที่ทุกคนทราบกันดี

ซึ่งหากย้อนกลับไปถึงเรื่องราวของครอบครัวผม พ่อของผมเองก็เคยได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นตอนอายุ 20 ปี และกลับมาทำงานที่เมืองไทยเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้น คนไทยที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ในประเทศไทยคงมีจำนวนน้อยมากๆ ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาทำงานในประเทศไทยรู้สึกสบายใจที่จะสนทนาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กับพ่อผมที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่นได้ ผมจำได้ว่าบทสนทนาในบ้านผมตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นประถม มักจะมีชื่อบริษัทญี่ปุ่นในไทยที่เป็นลูกค้าธนาคารที่พ่อผมดูแลอยู่เสมอ ผมก็เลยคิดเล่นๆว่า มันคงจริงที่อย่างที่ใครๆ พูดกัน ว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนชาตินิยม มักจะเข้าหาคนญี่ปุ่นด้วยกัน หรืออย่างน้อยคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นที่เป็นภาษาของเขาได้ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้พ่อของผมได้เติบโตขึ้นในหน้าที่การงาน ถีบตัวเองจากชนชั้นกลางที่ค่อนไปทางชนชั้นล่าง ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางอย่างเต็มตัว และคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พ่อผมตัดสินใจส่งผมกับน้องชายไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะด้วยประสบการณ์ของตัวเองที่มีชีวิตดีขึ้นได้จากการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น

‘ญี่ปุ่น’ ที่ผมอยากส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง

ผลจากการที่นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทย นอกจากจะสร้างโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวของพ่อผม และทำให้ผมและน้องชายได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นแล้ว แน่นอนว่ายังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ได้รับประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยที่เคยได้มีโอกาสไปเรียนต่อและทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จะมีสิ่งที่รู้สึกเกี่ยวกับ ‘ญี่ปุ่น’ เหมือนกันอยู่ในใจ เพียงแค่อาจจะมีโอกาสที่เข้ามาในชีวิตการทำงานของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปเท่านั้น ผมจึงอยากขอเขียนถึงเหตุผล 3 ข้อที่ทำให้พวกเราทุกคนในบริษัทและคนใกล้ตัวที่ทำงานอยู่ในวงการเดียวกัน เกิดความรู้สึกและมีสิ่งที่ยึดถือร่วมกันดังนี้ครับ

ข้อที่ 1 ‘บุญคุณต้องทดแทน’ มีวันนี้ได้เพราะ ‘ญี่ปุ่น’
ผมยังจำภาพเหตุการณ์วันที่รุ่นน้องคนหนึ่งที่เคยทำงานเป็นล่ามฟรีแลนซ์ด้วยกันคุยกับผมว่า ‘พวกเรามีวันนี้ได้ก็เพราะมี ‘ญี่ปุ่น’ เข้ามาในชีวิตเนอะพี่’ ได้อย่างชัดเจน ผมมั่นใจว่า ถ้าพวกเราไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ญี่ปุ่น’ เข้ามาในชีวิต ตอนนี้พวกเราคงทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ในบริษัทไทยที่ไหนสักแห่งอย่างแน่นอน

กว่าจะถึงวันนี้ เราได้รับโอกาสที่ญี่ปุ่นมอบให้มาอย่างมากมาย สมัยก่อนที่ประเทศไทยจะเริ่มมีการพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง ประเทศไทยยังยากจนอยู่มาก คนไทยที่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะเป็นนักเรียนที่ได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นหรือได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าพวกเราทุกคนยังคงมีความรู้สึกขอบคุณกับสิ่งที่เราได้รับจากญี่ปุ่นเสมอ

ทุกๆคนคงจำสิ่งที่เราได้รับการสอนมาตั้งแต่เด็กได้ว่า ‘บุญคุณต้องทดแทน’ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถทำอะไรตอบแทนผู้มีพระคุณได้ทุกอย่าง แต่อย่างน้อยผมก็เชื่อว่าพวกเราสามารถทำงานหรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศไทยและญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน

ข้อที่ 2 อยากให้คนไทยได้รู้จักญี่ปุ่นด้านธุรกิจมากขึ้น
คนไทยรุ่นก่อนๆ จะรู้จักญี่ปุ่นในฐานะนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960 จนถึงปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นที่ยังมีสถานะการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอยู่จำนวนกว่า 5,000 บริษัท คนญี่ปุ่นมากกว่า 70,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากกว่า 4,000 ร้าน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่คนไทยในปัจจุบันมักรู้จักญี่ปุ่นในแง่มุมของวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น การ์ตูน อนิเมชั่น หนัง ละคร เพลง อาหาร การท่องเที่ยว และไม่ค่อยอยากทำความรู้จักญี่ปุ่นในแง่มุมทางด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ธุรกิจเท่าไหร่นัก ทั้งๆที่ญี่ปุ่นมีประสบการณ์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในสังคมเศรษฐกิจโลกก่อนเราหลายสิบปี

จนตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นที่เคยเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กำลังประสบกับปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลง ขนาดของตลาดในประเทศหดตัวลง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ฝังรากลึกและยังคงไม่สามารถหาทางออกได้อย่างเป็นรูปธรรม พวกเรากำลังจะเห็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีบุคลากรที่มีความรู้ มีประสบการณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ค่อยๆตายหายไปจากโลกใบนี้อย่างน่าเสียดาย

‘ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 21’ คงไม่ใช่เรื่องของนักลงทุนญี่ปุ่นจะมาลงทุนในประเทศไทยเพราะค่าแรงถูกอีกต่อไป และผมคิดว่าคนทั้งสองประเทศจะยินดีมาก หากพวกเราคนไทยจะไม่เพียงแต่ ‘รอ’ และ ‘หวัง’ ให้ญี่ปุ่นมาลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะเข้าไปร่วมสร้างความสัมพันธ์ ‘ไฮบริด’ ทางธุรกิจใหม่ๆ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ญี่ปุ่นเห็นโอกาสในการหลุดออกจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และอาจเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย

ข้อที่ 3 อยากสร้างทีม specialist ธุรกิจญี่ปุ่น
ที่ผ่านมาประเทศไทยเราอาจจะคุ้นเคยกับการ ‘รับ’ มากเกินไป ทั้งเงินสนับสนุนโครงการ ความร่วมมือระหว่างประเทศ ตั้งแต่การสร้างถนน สะพาน รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือการสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมและการจ้างงานต่างๆ เลยอาจทำให้คนไทยไม่คุ้นชินกับการเป็นฝ่าย ‘นำเสนอ’ ยังคงเป็นฝ่ายรอและแค่แสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ญี่ปุ่นคิดให้และทำให้ต่อไป

และนั่นคงเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย หากเราปล่อยให้คนไทยที่มีความสามารถทางด้านภาษา มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นที่ดีมากๆ ต้องกลายไปเป็นแค่พนักงานและลูกจ้างในบริษัทญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด ผมสังเกตเห็นหลาย ๆคนที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นและออกมาทำงานของตัวเอง จะมีแนวคิดที่เหมือนกัน เพียงแค่ขาดโอกาสในการเริ่มต้นเท่านั้น พวกเราเลยเลือกที่จะเริ่มต้นลองทำงานใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีใครทำ รวมถึงการทำให้คนรุ่นหลังที่สนใจเรียนหรือทำงานเกี่ยวกับญี่ปุ่นเห็นเป็นตัวอย่างว่า มีงานอีกหลายๆประเภทที่เราสามารถเลือกทำได้นอกจากการเป็นพนักงานบริษัทญี่ปุ่นหรือล่ามฟรีแลนซ์

และด้วยเหตุผล 3 ข้อนี้เองที่ทำให้เราเลือกที่จะทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยและญี่ปุ่น แต่การที่จะทำให้คนไทยรู้จักประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น หรือการที่จะทำให้คนญี่ปุ่นเข้าใจประเทศไทยมากขึ้นนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ผมจึงพยายามทำให้เกิดการรวมตัวกัน เพื่อสร้าง movement และสร้างสิ่งที่สามารถ contribute คืนให้แก่สังคมไทยและญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งแนวความคิดของผมอาจจะพอเป็นหนึ่งตัวอย่างความคิดของคนไทยที่มีความสัมพันธ์และความผูกพันกับประเทศญี่ปุ่น

ทั้งหมดคือ ‘ญี่ปุ่น’ ที่ผมอยากส่งต่อ เหมือนที่ครั้งหนึ่งพ่อของผมเคยส่งต่อมาให้ผม และผมที่กำลังส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

‘connecting Thai-Japan’ สิ่งที่พวกเรายึดถือร่วมกัน

พวกเราเป็นคนไทยที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย แต่ได้มีโอกาสสัมผัสสิ่งที่เรียกว่า ‘ญี่ปุ่น’ พวกเราเลือกที่จะกลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทยที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน พวกเราเลือกที่จะไม่เข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นเพื่อที่จะได้เงินเดือนแพงๆ พวกเราเลือกที่จะไม่เข้าบริษัทขนาดใหญ่เพียงเพื่อต้องการความมั่นคง เพราะพวกเราเชื่อมั่นว่า พวกเราสามารถถ่ายทอดและผสมผสานค่านิยมของประเทศไทยและญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นตัวกลางในการสร้างสมานความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างสองประเทศ

‘connecting Thai-Japan’ คือคำมั่นสัญญาของพวกเราที่จะมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น นำองค์ความรู้ญี่ปุ่นควบรวมทรัพยากรไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งสองประเทศ คู่ค้าและพนักงาน นำสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนครับ

Kantatornの画像
ผู้เขียน Kantatorn

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร