วิธีสร้างสะพานเชื่อมวัฒนธรรมการทำงาน ไทย-ญี่ปุ่น แบบกันตธร วรรณวสุ - mediator

Blog วิธีสร้างสะพานเชื่อมวัฒนธรรมการทำงาน ไทย-ญี่ปุ่น แบบกันตธร วรรณวสุ

12.04.2022

mediator
วิธีสร้างสะพานเชื่อมวัฒนธรรมการทำงาน ไทย-ญี่ปุ่น แบบกันตธร วรรณวสุのメイン画像

กันตธร วรรณวสุ ได้รับเชิญไปสัมภาษณ์พิเศษ กับ Japan Foundation ในฐานะคนที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นมานานกว่า 10 ปี ความยากง่ายของการทำงานร่วมกันระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่น ความเหมือนในความต่างของสองวัฒนธรรม วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์บางส่วนมาให้ได้อ่านกัน

ทักษะ “การบริหารความคาดหวัง” จากการไปเรียนและทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น
คนกลาง คนไกล่เกลี่ย สะพาน คือ 3 คำที่เราได้ยินแทบจะตลอดการพูดคุยกับออยล์-กันตธร วรรณวสุ มันคือชุดคำที่ชายผู้นี้ใช้นิยามความเชี่ยวชาญของตัวเองและภารกิจของบริษัทอายุกว่า 12 ปีที่เขาก่อตั้งขึ้นจากประสบการณ์ชีวิต การได้ไปเรียนและใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 18 ปี เผชิญชีวิตวัยรุ่นอันแปลกแยกในมหาวิทยาลัย ประสบการณ์เปิดโลกจากการทำงานพิเศษที่ร้านอาหาร และการได้รับโอกาสเข้าทำงานที่สถานทูตไทยในญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้ทำให้เขาต้องเผชิญกับความท้าทายเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม เรียนรู้ที่จะรับมือกับการ ‘บริหารความคาดหวัง’ และเหล่านี้เองที่กลายมาเป็นต้นทุนสำคัญของบริษัทประสานงานธุรกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่ชื่อ Mediator ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ประสานงานจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐบาลของญี่ปุ่นอยู่มากมายหลายโปรเจกต์

ตัดสินใจไม่คบเพื่อนคนไทย
ผมไปเรียนที่นั้นตอนอายุ 18 ตอนแรกภาษาญี่ปุ่นผมยังไม่ดี ต้องไปเข้าโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นระดับล่างสุด พ่อแมผมไม่ได้มีเงินเยอะ ฉะนั้นความตั้งใจของผมคือต้องสอบภาษาญี่ปุ่นระดับ 1 ให้ผ่านและเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เร็วที่สุด ผมจบ ม.6 เกรดไม่ถึง 3 นะ แต่พอไปญี่ปุ่นปีแรกและปีเดียวในชีวิตที่ตั้งใจเรียนสุดๆ เทคนิคคือผมตัดสินใจไม่คบเพื่อนคนไทยเด็ดขาด และผมคัดคันจิทุกวัน วันละ 3-4 แผ่น หนึ่งแผ่นจะได้ประมาณ 1,250 ตัวผมเขียนทุกวันจนแซงชั้นผ่านระดับ 1 สอบเข้ามหาวิทยาลัย ไซตามะ สาขาวิศวกรรมเครื่องกลได้

ยุคมืดของการเรียนในมหาลัยที่ญี่ปุ่น
ปีแรก มันคือชีวิตนักศึกษาที่ผมใฝ่ฝัน ผมได้เพื่อนญี่ปุ่นจากวันปฐมนิเทศ จับฉลากรวมแก๊งกัน 7-8 คน เป็นเพื่อนกลุ่มแรกที่เราคุยกันจริงจัง กินข้าวด้วยกัน เรียนด้วยกัน ไปเข้าชมรมเล่นดนตรีด้วยกัน ได้โชว์ที่งานมหาวิทยาลัยประจำปี สนุกมากจนเรียกว่าเป็นยุคทองได้เลย
แต่หลังจากได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับคนญี่ปุ่นจริง ผมพบว่าสิ่งที่ผมมีน้อยไปคือความสามารถทางด้านภาษา ต่อให้ผมเรียนจนสอบภาษาญี่ปุ่นได้ 340 คะแนน ซึ่งตอนนั้นถือว่าเยอะ แต่ผมยังฟังอาจารย์มหาวิทยาลัยพูดไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง เพราะภาษาญี่ปุ่นที่เรียนในโรงเรียนกับในชีวิตจริงมันคนละเรื่องกัน ผมซื้อการ์ตูนสแลมดังก์เล่มแรกมาอ่าน เปิดมาอ่านออกว่าเขียนอะไรแต่ไม่รู้แปลว่าอะไรเพราะมันเป็นภาษาพูด
การสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นระดับ 4 3 2 ผ่านถ้าเปรียบเป็นนักกีฬาว่ายน้ำคือยังแค่ยืนจัดท่าอยู่ริมฝั่ง การสอบวัดระดับ 1 ผ่านมันไม่ใช่การไปถึงเส้นชัย เราแค่เพิ่งกระโดดลงไปในสระเท่านั้น แล้วเส้นชัยอยู่ตรงไหนไม่รู้ ไกลมาก แล้วที่ยากกว่าภาษา คือเราจะคุยกับคนญี่ปุ่นยังไงให้เข้าถึงเขาได้ บางครั้งผมก็สัมผัสได้ว่ามีกำแพงที่มองไม่เห็น รู้สึกว่าเพื่อนคนญี่ปุ่นเขาทรีตผมเป็นคนต่างชาติ รู้สึกถึงช่องว่างที่มันมากกว่าแค่เรื่องภาษา
อย่างเวลาเขาคุยกันเรื่องโฆษณาตลกๆ ที่เขาเคยดูกันสมัย ม.ต้น มันเป็นประสบการณ์ร่วมในวัฒนธรรมของเขาที่ผมไม่มี ผมเข้าวงไม่ได้ มุกตลกเป็นเรื่องสำคัญมากในการสนทนา แล้วเขาพูดมาผมไม่ขำ พอผมปล่อยมุกเขาก็ไม่ขำ กลายเป็นว่าไอ้นี่พูดอะไรแปลกๆ เลยเหมือนเฟลกันทั้ง 2 ฝั่ง การสื่อสารเกิดช่องว่างที่ไม่ใช่เรื่องของภาษาอย่างเดียวแล้ว ทำให้ ผมรู้สึกว่าหรือผมคิดผิดที่มาเรียนที่ญี่ปุ่น

ตัดสินใจเลิกคบเพื่อนคนญี่ปุ่น
ผมบอกตัวเองว่าอุตส่าห์มาแล้วไม่อยากให้พ่อแม่เสียใจ สิ่งที่ผมตัดสินใจทำตอนปี 2 คือผมเลิกคบเพื่อนญี่ปุ่นหมดเลยในคณะ ประชดตัวเองด้วย เพราะตอนนั้นเรายังเด็ก แต่สุดท้ายเราอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้ เลยไปคบเพื่อนต่างชาติด้วยกัน แต่สิ่งที่ช่วยผมได้มากคือการทำงานพิเศษ เริ่มจากงานยกขนของย้ายบ้าน งานแปลภาษาไทยและสอนภาษาไทย งานในร้านให้เช่าวิดีโอ แต่ที่ทำนานที่สุดคือร้านอาหารชื่อ Be-Plant หน้ามหาวิทยาลัยซึ่งเปลี่ยนชีวิตผมไปโดยสิ้นเชิง คนที่มาทำงานพิเศษที่ร้านนี้มาจากต่างที่ ร้อยพ่อพันแม่เหมือนกัน แต่ทุกคนอยู่กันได้ด้วยงานและแนวคิดของเจ้าของร้าน เขาบอกผมคำหนึ่งว่า ‘คุณห้ามใช้คำว่าคนไทยเป็นข้ออ้างในการที่จะไม่ทำอะไร สัญชาติไม่เกี่ยว คนเหมือนกันทำได้ทุกอย่าง แตกต่างก็ไม่เห็นเป็นอะไร’ มันทำให้ผมรู้สึกว่ามีพื้นที่ มีตัวตนขึ้นมาในสังคมญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นที่เขาให้ความสำคัญกับความแตกต่างก็มีนี่หว่า
ผมจึงได้เข้าใจว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นเกาะ เป็นสังคมวัฒนธรรมเดี่ยว ไม่เชื่อมต่อกับใคร เขาจึงมีภูมิคุ้มกันต่อความแตกต่างค่อนข้างต่ำ ไม่เหมือนไทยที่เราเป็นแผ่นดินใหญ่ ในธรรมชาติมันไม่มีเส้นแบ่งเขตแดน เราจึงมีภูมิคุ้มกันเรื่องความแตกต่างสูงมาก พอเราไปคาดหวังว่าสังคมญี่ปุ่นต้องเป็นเหมือนกัน เลยทำให้ผมรู้สึกแปลกแยก การที่ผมทำงานพิเศษที่ร้านนั้นจนเรียนจบ ทำให้ผมมีมุมมองกับญี่ปุ่น 360 องศา โอเค ผมพร้อมที่จะไปลุยต่อในสังคมที่เป็นวัฒนธรรมเดี่ยวแล้ว ผมปรับตัวให้เข้าหาส่วนรวม ทำให้กลมกลืนที่สุด จนเรียนจบออกมาด้วยความรู้สึกว่าเรามีหลักยืน แล้วก็ไปเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมที่สถานทูตไทยในญี่ปุ่น

ไทย-ญี่ปุ่น ความเหมือนในความต่าง
หลังจากที่ได้ทำงานกับคนญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ทำให้มองเห็นความแตกต่างที่มักเป็นประเด็นให้คนไทยและคนญี่ปุ่นมีปัญหาในการทำงาน เช่น เวลาประชุมหรือทำงาน คนไทยจะชอบแบบผู้ใหญ่สั่ง แต่ของคนญี่ปุ่นจะเป็นฉันทามติ เพราะฉะนั้นเวลาคนญี่ปุ่นถามความเห็นคนไทย ถ้าคนไทยพูดความเห็นไปแล้วคนญี่ปุ่นไม่ทำตามจะรู้สึกเซ็ง ถ้าทำอย่างนี้หลายครั้งคนไทยจะเลิกพูดความเห็น อยากได้อะไรบอกมาผมจัดให้ แต่คนญี่ปุ่นบางทีสั่งก็เหมือนไม่ได้สั่งนะ เพราะว่าเค้าต้องการพูดคุยและปั้นไอเดียไปด้วยกัน เลยมักจะเกิดปัญหาในการทำงานร่วมกันว่าทำไมคนญี่ปุ่นสั่งงานไม่ชัดเจน ส่วนคนญี่ปุ่นก็บอกว่าคนไทยไม่ออกความเห็น ถามว่าใครถูกหรือผิดไหมก็ไม่ใช่

นี่เป็นแค่บทสัมภาษณ์บางส่วนที่เราตัดมาให้อ่านเป็นบางส่วนเท่านั้น ตามไปอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ Nana nippon ฉบับ 109
https://www.jfbkk.or.th/en/publications/nana-nippon-en/

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร