ปลดล็อกขีดจำกัด เปิดรับทุกความท้าทาย เป้าหมาย “เดินหน้าเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจ เร่งกระตุ้นการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น” - mediator

Blog ปลดล็อกขีดจำกัด เปิดรับทุกความท้าทาย เป้าหมาย “เดินหน้าเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจ เร่งกระตุ้นการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น”

16.05.2023

mediator
ปลดล็อกขีดจำกัด เปิดรับทุกความท้าทาย เป้าหมาย “เดินหน้าเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจ เร่งกระตุ้นการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น”のメイン画像
ปลดล็อกขีดจำกัด เปิดรับทุกความท้าทาย เป้าหมาย “เดินหน้าเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจ เร่งกระตุ้นการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น”

ปี 2565 เป็นอีกปีที่ mediator ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นได้อย่าเต็มความสามารถ ทุกโอกาสที่ได้รับทั้งจากภาครัฐและเอกชน คือสิ่งที่ทำให้ mediator เติบโตทั้งในด้านการปรับตัวขององค์กร และการพัฒนาทักษะการทำงานส่วนบุคคลของพนักงานทุกคนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ในวันนี้ กันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการบริษัท mediator และผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการ TJRI จะมาร่วมมองย้อนกลับไปในช่วง 2-3 ปี ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตการณ์ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และบอกเล่าถึงประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้ในปีที่ผ่านมา พร้อมเผยทิศทางของ mediator และ TJRI รวมถึงเป้าหมายของบริษัทในปี 2566 นี้


ก้าวข้ามข้อจำกัด สู่การจัดงานใหญ่ระดับประเทศ

Q. จากประสบการณ์การทำงานช่วง 3 ที่ผ่านมา mediator ได้เรียนรู้อะไร และมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ช่วงเดือนมีนาคม ปี 2563 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผมและ mediator ซึ่งเดิมทีเราทำงานออฟไลน์เป็นหลัก แต่โควิด-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบให้แผนงานของลูกค้าที่วางไว้ทั้งหมดในปีงบประมาณ 2563 เปลี่ยนไป งานต่างๆไม่สามารถจัดแบบออฟไลน์ได้เหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา เราจึงจำเป็นต้องเร่งคิดหาวิธีในการจัดงานเพื่อนำเสนอลูกค้า ให้ลูกค้าสามารถทำงานได้ตามหัวข้องบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาตั้งแต่ปีงบประมาณก่อน โดยผมได้โจทย์ใหญ่ว่า “หลังจากนี้บริษัทเราจะสามารถปรับการทำงานและปรับองค์กรให้สามารถรับงานบริหารจัดการโครงการและ Organizer งานจับคู่ธุรกิจ งานสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ ทั้งที่ยังไม่มีประสบการณ์มาก่อนเลยได้หรือไม่” จากนั้น เราจึงได้เริ่มทดลองใช้โปรแกรมและเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยในการทำงาน คิดหาวิธีเปลี่ยนการจัดงานรูปแบบเดิมมาเป็นออนไลน์ เพื่อให้คนญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่ต้องเดินทางมาประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการถูกล็อกดาวน์ด้วย

หลังจากนั้น เราใช้เวลาเพียง 2-3 เดือนเพื่อปรับการทำงานจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ เราจัดทั้งงานสัมมนา งานจับคู่ทางธุรกิจ และงานแถลงข่าวผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อม ๆ กับปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ในเวลานั้นมี mediator เพียงบริษัทเดียวที่สามารถจัดงานแบบออนไลน์ครบวงจรและตอบโจทย์ให้กับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นในประเทศไทยได้

อาจกล่าวได้ว่าปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย เป็นปฐมบทของความท้าทายในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ 3 หลังจากเกิดวิกฤตินั้น เป็นเหมือนบทสรุปผลของความพยายามและผลของการทุ่มเทในทำงานที่ได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากลูกค้า ที่ช่วยทำให้ mediator ได้เรียนรู้จากการก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ นำไปสู่การพัฒนาองค์กร ซึ่งตอนนี้ยิ่งเห็นได้ชัดว่า ผลการทดลองการปรับวิธีการทำงานหลายรูปแบบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังคงได้ผลดีมาก อย่างไรก็ตาม เรายังคงพยายามปรับตัว ไม่หยุดพัฒนา และใส่ใจทุกรายละเอียด ดังค่านิยมในการทำงานที่เรายึดถือ

Q. ในปี 2565 mediator มีบทบาทในการสร้างอิมแพคให้กับประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ปีที่ผ่านมาเราได้รับโจทย์ที่หลากหลาย และมีโอกาสได้จัดงานใหญ่ ๆ ระดับประเทศมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งาน TJRI Business Networking Reception 2022 ที่จัดขึ้น ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ซึ่งในงานมีผู้บริหารระดับสูงชาวไทยและญี่ปุ่นกว่า 120 คนเข้าร่วม หากรวมยอดขายทั้งหมดของบริษัทที่มาร่วมงานแล้ว สามารถเทียบมูลค่าได้ถึง 38% ของ GDP ของประเทศไทย โดยงานนี้ได้ช่วยสร้างโอกาสพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้บริหารโดยตรง นำไปสู่การเจรจาต่อยอดธุรกิจทั้งฝั่งไทยและญี่ปุ่นต่อไปอีกด้วย


นอกจากนี้ ยังมีงาน Rock Thailand ครั้งที่ 4 โดยมีนาย NISHIMURA Yasutoshi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI), คุณสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณศุภชัย เจียรวนนท์ CEO เครือเจริญโภคภัณฑ์มาร่วมงาน และงาน Japan-Thailand Tourism Seminar โดยองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization : JNTO) ที่มีนาย KISHIDA Fumio นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นมาร่วมเป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การปรับตัวและทำงานด้วยแนวคิดค่านิยมในการทำงานของเราได้ผลจริง และส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าภาครัฐต่าง ๆ ที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจให้โอกาสในการจัดงานใหญ่ระดับตัวแทนประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย


เรียนรู้จากปัญหา พัฒนาระบบ พร้อมรับความท้าทาย

Q. mediator มีวิธีรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่เข้ามาอย่างไร

เราเน้นการ “ทดลอง” ครับ เป็นการลองผิดลองถูกบนการตั้งสมมติฐานก่อนเริ่มทดลองทำ เราต้องคิดไว้ก่อนระดับนึงว่า หลังจากที่เราทดลองทำอะไรบางอย่างไปแล้ว หากเกิดกรณีแบบนี้ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ซึ่งหลังจากได้สมมติฐานแล้วจะเน้นการเริ่มลงมือทำจริง ไม่จำเป็นต้องคิดให้สุดจนเห็นคำตอบสุดท้าย เน้นการทดลองทำวิธีการต่าง ๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เพราะสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเรามัวแต่ใช้เวลาคิด ตอนเราคิดเสร็จ สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปแล้วด้วยซ้ำ ดังนั้น การทดลองทำ ถึงแม้จะมีวิธีที่ได้ผลและไม่ได้ผลปะปนกันไป แต่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่า ต่อจากนี้ควรทำอย่างไรงานจึงสำเร็จได้เร็วกว่าคนอื่นที่อาจจะยังรอดูสถานการณ์และยังไม่ได้เริ่มต้นทดลองทำอะไรเลย

Q. จุดที่ยังต้องพัฒนาและจุดแข็งที่ mediator จะพาไปด้วยในปี 2566 มีอะไรบ้าง

จุดแข็งคือค่านิยมในการทำงานซึ่งพวกเราได้ตั้งชื่อกันไว้ว่า “MIRAI” เป็นหลักในการปฏิบัติที่จะสร้างอนาคตใหม่ให้กับเราตลอดเวลา ประกอบไปด้วย 5 ข้อที่เราให้ความสำคัญมากในการทำงาน ได้แก่ 1. Maximize คิดดีขึ้น ดีกว่า ดีเลิศ คือ ความพยายามมุ่งพัฒนาทุกงานให้ดียิ่งขึ้น 2. Insightful สนใจ ใส่ใจ คือ การเข้าใจและใส่ใจรายละเอียดของงาน 3. Real Expertise ลงมือทำจริง รู้จริง เก่งจริง คือ ต้องรู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่ทำ 4. Agility พร้อมรับ พร้อมเรียน พร้อมลุย คือ การพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และ 5. Integrator ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมสร้าง คือ การร่วมมือและเปิดใจรับความเห็นต่าง และแน่นอนว่าค่านิยมองค์กรดังกล่าวคงจะเป็นแค่คำขวัญที่แปะติดไว้ที่ผนัง ถ้าเราขาดบุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ที่พร้อมลุยงานทุกรูปแบบมากับเรา ทำให้พวกเราสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้มาได้ด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม จุดที่เรายังต้องการการพัฒนาคือ เรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยการนำเครื่องมือมาใช้ ให้ทั้งทีมเห็นงานในภาพรวมล่วงหน้าร่วมกันก่อนที่งานจะเกิดปัญหา เพื่อลดจำนวนครั้งในการต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะในบางครั้งการทำงานโดยพึ่งพาความสามารถเชิงบุคคลเพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้ไม่สามารถมองภาพรวมงานได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งตอนนี้เรากำลังมองหาเครื่องมือเข้าช่วย เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าใจภาพรวมตรงกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งจุดนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และจะช่วยให้ mediator ขยายตัวได้ดีและมั่นคงมากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัวในอนาคต


เติบโตไปด้วยกัน ทั้งไทยและญี่ปุ่น

Q. ภาพรวมของปี 2565 mediator เติบโตขึ้นในด้านใดบ้าง

อย่างแรกคือด้านการเติบโตขององค์กร ถึงแม้จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ทว่าเรามีงานเข้ามามากขึ้น จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น รวมถึงมียอดขายสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ โครงการ TJRI ที่เปิดตัวช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2564 เราเปลี่ยนจากการทำงาน Project Management เพียงอย่างเดียว มาเริ่มทำโครงการของบริษัทเอง โดยการถามปัญหาและความต้องการของลูกค้าโดยตรง แล้วหาพาร์ทเนอร์ที่ตอบโจทย์มากที่สุด ซึ่งเรามองว่าโครงการนี้ช่วยสร้างอิมแพคต่อประเทศมากกว่าเดิม ใน 1-2 ปีที่ผ่านมา เราสั่งสมประสบการณ์ผ่านการร่วมงานกับบริษัทชั้นนำในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และในปี 2565 ที่ผ่านมานี้ เรายังได้รับโอกาสให้จัดงานใหญ่อย่าง TJRI Business Networking Reception 2022 ที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการช่วยตอกย้ำความมั่นใจในการดำเนินโครงการ TJRI ต่อจากนี้

Q. ปี 2566 mediator อยากโตขึ้นในด้านใด และอยากทำอะไรที่สร้างอิมแพคกับประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

2-3 ปีที่ผ่านมา แม้การเกิดโรคระบาดครั้งนี้ อาจเป็นเครื่องพิสูจน์ในการเติบโตของบริษัทด้วยทักษะการแก้ปัญหาและความสามารถส่วนตัวของพนักงานทุกคนในบริษัท แต่ในปีนี้เราอยากเริ่มเติบโตด้วยระบบ โดยการปรับการทำงานให้มองเห็นภาพรวมได้อย่างชัดเจน เพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบและพัฒนาคนในองค์กรอย่างถูกทิศทางมากขึ้น

นอกจากการปรับระบบการทำงานแล้ว โครงการ TJRI ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของปีนี้ โดยตั้งเป้าในการต่อยอดและขยายโครงการ ให้คนญี่ปุ่นที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ในประเทศไทยกว่า 27,000 คนมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น จากเดิมเรามุ่งเน้นการเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงเป็นหลัก แต่หลังจากนี้ อยากให้คนญี่ปุ่นที่ถูกส่งทำงานที่ประเทศไทยทุกระดับได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ TJRI เพื่อสร้างอิมแพคให้กับประเทศไทยได้มากยิ่งกว่าเดิม

Q. สุดท้ายนี้ อยากฝากอะไรถึงผู้อ่าน

ณ ตอนนี้ กระแสของประเทศจีนกำลังมาแรงในประเทศไทย ทำให้กระแสประเทศญี่ปุ่นดูแผ่วลง และสำหรับประเทศญี่ปุ่นเองก็ดูให้ความสนใจประเทศเวียดนามมากกว่า อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ผมนั้น ทั้งองค์กรญี่ปุ่นและคนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยยังคงมีความเชื่อมั่นในประเทศของเรา แต่ยังขาดเพียงโอกาสพูดคุยหารือกับองค์กรของไทยเท่านั้น ดังนั้น จึงอยากฝากให้คนไทยกลับมาเชื่อมั่นในประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง พร้อมทั้งมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจุดเชื่อมองค์กรใหญ่ของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น สร้างความร่วมมือและขยายธุรกิจร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของประเทศและสังคมส่วนรวมต่อไปในอนาคตครับ

mediatorの画像
ผู้เขียน mediator

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง

mediator newsletter

‘จดหมายข่าว’ กดสมัครรับข่าวสารเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การลงทุนและธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นจากพวกเราก่อนใคร